ประกาศของคณะปฏิวัติ
ฉบับที่ 331
โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า เนื่องจากทางราชการมีนโยบายที่จะให้เอกชนได้เข้ามาลงทุนหรือร่วมทุนกับกรมการพลังงานทหาร กระทรวงกลาโหม ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียม เพื่อทำการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในบริเวณพื้นที่ซึ่งกรมการพลังงานทหาร กระทรวงหลาโหม ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ เป็นการสมควรให้ผู้ลงทุนหรือร่วมทุนได้รับประโยชน์ สิทธิ ตลอดจนมีหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ที่ได้รับสัมปทานตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 หัวหน้าคณะปฏิวัติจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในกรณีที่มีเอกชนลงทุน หรือร่วมทุนกับกรมการพลังงานทหาร กระทรวงกลาโหม เพื่อทำการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ที่กรมการพลังงานทหาร กระทรวงกลาโหม ได้รับมอบหมายให้ทำการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ให้นำบทบัญญัติในหมวด 6 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งว่าด้วยประโยชน์ สิทธิ และหน้าที่ของผู้รับสัมปทานมาใช้บังคับแก่เอกชนผู้ลงทุนหรือร่วมทุน เสมือนเอกชนผู้ลงทุนหรือร่วมทุนนั้นเป็นผู้รับสัมปทานตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ด้วย
ข้อ 2 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน*และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้
ข้อ 3 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 13 ธันวาคม พุทธศักราช 2515
จอมพล ถ. กิตติขจร
หัวหน้าคณะปฏิวัติ
*พระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 พ.ศ. 2545
มาตรา 134 ในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 331 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ให้แก้ไขคำว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม” เป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน”
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้บัญญัติให้จัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่โดยมีภารกิจใหม่ ซึ่งได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม นั้นแล้ว และเนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้โอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่ โดยให้มีการแก้ไขบทบัญญัติต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ที่โอนไปด้วย ฉะนั้น เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามหลักการที่ปรากฏในพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงสมควรแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้สอดคล้องกับการโอนส่วนราชการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความชัดเจนในการใช้กฎหมายโดยไม่ต้องไปค้นหาในกฎหมายโอนอำนาจหน้าที่ว่าตามกฎหมายใดได้มีการโอนภารกิจของส่วนราชการหรือผู้รับผิดชอบตามกฎหมายนั้นไปเป็นของหน่วยงานใดหรือผู้ใดแล้ว โดยแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายให้มีการเปลี่ยนชื่อส่วนราชการ รัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการให้ตรงกับการโอนอำนาจหน้าที่ และเพิ่มผู้แทนส่วนราชการในคณะกรรมการให้ตรงตามภารกิจที่มีการตัดโอนจากส่วนราชการเดิมมาเป็นของส่วนราชการใหม่รวมทั้งตัดส่วนราชการเดิมที่มีการยุบเลิกแล้ว ซึ่งเป็นการแก้ไขให้ตรงตามพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
ภคินี/แก้ไข
31/1/2545
A+B
ปัญญา/แก้ไข
30 กรกฎาคม 2552
[1] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 89/ตอนที่ 190/ฉบับพิเศษ หน้า 163/13 ธันวาคม 2515