พระราชบัญญัติ
ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4)
พ.ศ. 2532
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2532
เป็นปีที่ 44 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532”
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า “น้ำมันดิบ” “น้ำมันดิบที่ส่งออก” “ผลิต” และ “จำหน่าย” ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
““น้ำมันดิบ” หมายความว่า น้ำมันแร่ดิบ แอสฟัลท์ โอโซเคอไรท์ ไฮโดรคาร์บอนและบิทูเมนทุกชนิดที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ไม่ว่าในสภาพของแข็ง ของหนืด หรือของเหลว และให้หมายความรวมถึงก๊าซธรรมชาติเหลวด้วย
“น้ำมันดิบที่ส่งออก” หมายความว่า น้ำมันดิบที่ส่งออกนอกราชอาณาจักร ไม่ว่าการส่งออกน้ำมันดิบจะกระทำโดยผู้รับสัมปทานหรือผู้อื่น และให้หมายความรวมถึงส่วนของน้ำมันดิบที่ผู้รับสัมปทานได้ขายหรือจำหน่ายในราชอาณาจักร และได้มีการนำน้ำมันดิบดังกล่าวไปกลั่นเป็นผลิตภัณฑ์และผลิตภัณฑ์นั้นถูกส่งออกนอกราชอาณาจักร ทั้งนี้ ตามปริมาณที่คำนวณได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 89 (1)
“ผลิต” หมายความว่า ดำเนินการใด ๆ เพื่อนำปิโตรเลียมขึ้นจากแหล่งสะสม และให้หมายความรวมถึง ใช้กรรมวิธีใด ๆ เพื่อทำให้ปิโตรเลียมอยู่ในสภาพที่จะขาย หรือจำหน่ายได้ แต่ไม่หมายความถึงกลั่น ประกอบอุตสาหกรรมเคมีปิโตรเลียม ประกอบอุตสาหกรรมโรงแยกก๊าซ โรงทำก๊าซให้เป็นของเหลวหรือโรงอัดก๊าซ
“จำหน่าย” หมายความว่า
(1) ส่งน้ำมันดิบไปยังโรงกลั่นน้ำมันหรือสถานที่เก็บรักษาเพื่อการกลั่นน้ำมันไม่ว่าโรงกลั่นน้ำมันหรือสถานที่เก็บรักษาจะเป็นของผู้รับสัมปทานหรือไม่
(2) ส่งก๊าซธรรมชาติไปยังโรงแยกก๊าซ โรงทำก๊าซให้เป็นของเหลว โรงอัดก๊าซ หรือสถานที่เก็บรักษาเพื่อกิจการดังกล่าว ไม่ว่าโรงแยกก๊าซ โรงทำก๊าซให้เป็นของเหลว โรงอัดก๊าซ หรือสถานที่เก็บรักษาดังกล่าวจะเป็นของผู้รับสัมปทานหรือไม่
(3) นำปิโตรเลียมไปใช้ในกิจการใด ๆ ของผู้รับสัมปทานหรือของผู้อื่นโดยไม่มีการขาย หรือ
(4) โอนปิโตรเลียมโดยไม่มีค่าตอบแทน”
มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 15 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการปิโตรเลียม” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี อธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีกรมประมง อธิบดีกรมป่าไม้ อธิบดีกรมสรรพากร ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม และบุคคลซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินหกคน เป็นกรรมการ
บุคคลซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนที่แต่งตั้งต้องไม่เป็นข้าราชการในส่วนราชการที่มีกรรมการโดยตำแหน่งสังกัดอยู่
คณะกรรมการจะแต่งตั้งกรรมการคนใดคนหนึ่งหรือบุคคลอื่นเป็นเลขานุการคณะกรรมการก็ได้”
มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 16 ให้คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ และให้มีหน้าที่ให้คำปรึกษา คำแนะนำ และความเห็นแก่รัฐมนตรีในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) การให้สัมปทานตามมาตรา 23
(2) การต่อระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมตามมาตรา 25
(3) การต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมตามมาตรา 26
(4) การขยายอายุสัมปทานตามมาตรา 27 และมาตรา 52 ทวิ
(5) การอนุญาตให้ผู้รับสัมปทานรับบริษัทอื่นเข้าร่วมประกอบกิจการปิโตรเลียมตามมาตรา 47
(6) การอนุญาตให้โอนสัมปทานตามมาตรา 50
(7) การเพิกถอนสัมปทานตามมาตรา 51
(8) การสั่งให้ผู้รับสัมปทานจัดหาปิโตรเลียมเพื่อใช้ในราชอาณาจักรตามมาตรา 60
(9) การห้ามส่งปิโตรเลียมออกนอกราชอาณาจักรตามมาตรา 61
(10) การสั่งให้ผู้รับสัมปทานเสียค่าภาคหลวงเป็นปิโตรเลียมตามมาตรา 83
(11) การรับชำระค่าภาคหลวงเป็นเงินตราต่างประเทศตามมาตรา 87
(12) การลดหย่อนค่าภาคหลวงให้แก่ผู้รับสัมปทานตามมาตรา 99 ทวิ และมาตรา 99 ตรี
(13) เรื่องอื่นตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย”
มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 22 รัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจ
(1) ให้สัมปทานตามมาตรา 23
(2) ต่อระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมตามมาตรา 25
(3) ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมตามมาตรา 26
(4) อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงปริมาณงานตามมาตรา 30
(5) อนุญาตให้ผู้รับสัมปทานรับบริษัทอื่นเข้าร่วมประกอบกิจการปิโตรเลียมตามมาตรา 47
(6) อนุญาตให้โอนสัมปทานตามมาตรา 50
(7) แจ้งให้ผู้รับสัมปทานทราบว่ารัฐบาลจะเข้าใช้สิทธิประกอบกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งด้วยความเสี่ยงภัยแต่ฝ่ายเดียวตามมาตรา 52 ทวิ
(8) ลดหย่อนค่าภาคหลวงสำหรับปิโตรเลียมตามมาตรา 99 ทวิ และมาตรา 99 ตรี
(9) กำหนดค่าคงที่แสดงสภาพทางธรณีวิทยาของแปลงสำรวจตาม มาตรา 100 ฉ”
มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 25 ระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมตามสัมปทานให้มีกำหนดไม่เกินหกปีนับแต่วันให้สัมปทาน
ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานประสงค์จะขอต่อระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมให้ผู้รับสัมปทานยื่นคำขอต่อระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม พร้อมกับเสนอข้อผูกพันในด้านปริมาณเงินปริมาณงาน หรือทั้งปริมาณเงินและปริมาณงานสำหรับการสำรวจปิโตรเลียมในช่วงข้อผูกพันช่วงที่สามก่อนสิ้นระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมไม่น้อยกว่าหกเดือน แต่ถ้าผู้รับสัมปทานขอสำรวจปิโตรเลียมไม่เกินสามปี ไม่มีสิทธิขอต่อระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมอีก
การต่อระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมให้กระทำได้เมื่อผู้รับสัมปทานได้ปฏิบัติตามสัมปทานทุกประการและได้ตกลงในเรื่องข้อผูกพันช่วงที่สาม สำหรับการสำรวจปิโตรเลียมก่อนสิ้นช่วงข้อผูกพันช่วงที่สองไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน
การต่อระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม ให้กระทำได้เพียงครั้งเดียวเป็นเวลาไม่เกินสามปี”
มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 26 ระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมตามสัมปทานให้มีกำหนดไม่เกินยี่สิบปีนับแต่วันถัดจากวันสิ้นระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม แม้จะมีการผลิตปิโตรเลียมในระหว่างระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมด้วยก็ตาม”
มาตรา 9 ให้ยกเลิกความในมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2516 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 28 ในการให้สัมปทาน รัฐมนตรีมีอำนาจให้ผู้ขอสัมปทานได้รับสัมปทานไม่เกินรายละสี่แปลงสำรวจ เว้นแต่ในกรณีที่รัฐมนตรีพิจารณาเห็นสมควร อาจให้ผู้ขอสัมปทานได้รับสัมปทานเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแปลงสำรวจก็ได้ แต่เมื่อรวมพื้นที่ของแปลงสำรวจทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินสองหมื่นตารางกิโลเมตร
เขตพื้นที่แปลงสำรวจที่มิใช่อยู่ในทะเล ให้เป็นไปตามที่กรมทรัพยากรธรณีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่แปลงสำรวจที่มิใช่อยู่ในทะเล จะกำหนดให้มีพื้นที่เกินแปลงละสี่พันตารางกิโลเมตรไม่ได้
เขตพื้นที่แปลงสำรวจในทะเล ให้เป็นไปตามที่กรมทรัพยากรธรณีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เขตพื้นที่แปลงสำรวจในทะเลให้รวมถึงพื้นที่เกาะที่อยู่ในเขตแปลงสำรวจนั้นด้วย
บทบัญญัติในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่การให้สัมปทานสำหรับแปลงสำรวจในทะเลที่กรมทรัพยากรธรณีกำหนดว่าเป็นแปลงสำรวจที่มีน้ำลึกเกินสองร้อยเมตรในกรณีดังกล่าว รัฐมนตรีมีอำนาจให้ผู้ขอรับสัมปทานได้รับสัมปทานตามจำนวนแปลงสำรวจและจำนวนพื้นที่ของแปลงสำรวจทั้งหมดที่รัฐมนตรีพิจารณาเห็นสมควร”
มาตรา 10 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514
“ในกรณีที่ปรากฏว่าปริมาณงานตามที่กำหนดไว้ในช่วงข้อผูกพันช่วงหนึ่ง ๆ ของสัมปทานไม่เหมาะสมกับสภาพทางธรณีวิทยาของพื้นที่สัมปทาน หรือในกรณีที่มีเทคโนโลยีการสำรวจปิโตรเลียมที่ทันสมัยขึ้น เมื่อผู้รับสัมปทานขอเปลี่ยนแปลงข้อผูกพันด้านปริมาณงาน ให้รัฐมนตรีมีอำนาจอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงข้อผูกพันดังกล่าวได้ตามความเหมาะสมและถ้าการเปลี่ยนแปลงข้อผูกพันนั้นทำให้ผู้รับสัมปทานใช้จ่ายเงินน้อยกว่าจำนวนเงินที่ต้องใช้จ่ายตามข้อผูกพันเดิม ผู้รับสัมปทานต้องจ่ายเงินส่วนที่ลดลงให้แก่กรมทรัพยากรธรณีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีอนุมัติ”
มาตรา 11 ให้ยกเลิกความใน (1) ของมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2516 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(1) เมื่อครบสี่ปีนับแต่วันเริ่มระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม ต้องคืนพื้นที่ร้อยละห้าสิบของพื้นที่แปลงสำรวจแปลงนั้น แต่ถ้าเป็นแปลงสำรวจที่กรมทรัพยากรธรณี กำหนดว่าเป็นแปลงสำรวจในทะเลที่มีน้ำลึกเกินสองร้อยเมตรให้คืนพื้นที่ร้อยละสามสิบห้าของพื้นที่แปลงสำรวจแปลงนั้น”
มาตรา 12 ให้ยกเลิกความในมาตรา 39 และมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 39 ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานใช้สิทธิคืนพื้นที่แปลงสำรวจในช่วงข้อผูกพันช่วงที่สองหรือช่วงที่สาม ถ้าเป็นการคืนพื้นที่ทั้งหมดที่เหลืออยู่ของแปลงสำรวจแปลงใดให้ผู้รับสัมปทานพ้นจากข้อผูกพันทั้งหมดสำหรับการสำรวจปิโตรเลียมที่ผู้รับสัมปทานยังมิได้ปฏิบัติไปในแปลงสำรวจแปลงนั้น ทั้งนี้ เว้นแต่ข้อผูกพันที่กำหนดไว้ในสัมปทานให้ผู้รับสัมปทานต้องปฏิบัติภายในระยะเวลาก่อนการคืนพื้นที่ และให้นำบทบัญญัติมาตรา 32 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 40 ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานใช้สิทธิคืนพื้นที่แปลงสำรวจบางส่วนครั้งหนึ่งหรือหลายครั้งในช่วงข้อผูกพันช่วงที่สอง ให้ผู้รับสัมปทานได้รับการลดหย่อนในการปฏิบัติตามข้อผูกพันสำหรับการสำรวจปิโตรเลียมที่ยังคงเหลืออยู่ในแปลงสำรวจแปลงนั้น ดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่การคืนพื้นที่นั้นกระทำในระหว่างปีที่สี่ นับแต่วันเริ่มระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจแปลงนั้น ถ้าพื้นที่ที่คืนไม่เกินพื้นที่ที่ต้องคืนตามมาตรา 36 ผู้รับสัมปทานไม่มีสิทธิได้รับการลดหย่อนในการปฏิบัติตามข้อผูกพันในช่วงข้อผูกพันช่วงที่สอง แต่ถ้าพื้นที่ที่คืนครั้งหนึ่งหรือหลายครั้งรวมกันเกินพื้นที่ที่ต้องคืนตามมาตรา 36 แล้ว ให้ผู้รับสัมปทานมีสิทธิได้รับการลดหย่อนในการปฏิบัติตามข้อผูกพันสำหรับการสำรวจปิโตรเลียมในช่วงข้อผูกพันช่วงที่สองนับแต่วันเริ่มต้นของช่วงข้อผูกพันนั้น ทั้งนี้ ตามอัตราส่วนของพื้นที่ที่คืนแต่ละครั้งเฉพาะส่วนที่เกินพื้นที่ที่ต้องคืนตามมาตรา 36 กับพื้นที่ที่ผู้รับสัมปทานยังถืออยู่ในวันเริ่มต้นของช่วงข้อผูกพันช่วงที่สอง หักด้วยพื้นที่ที่ต้องคืนตามมาตรา 36 หรือตามอัตราส่วนของระยะเวลาที่ยังเหลืออยู่ในช่วงข้อผูกพันช่วงที่สองนับแต่วันที่มีการคืนแต่ละครั้งกับระยะเวลาทั้งสิ้นของช่วงข้อผูกพันช่วงที่สอง สุดแต่อัตราใดจะน้อยกว่า
(2) ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานใช้สิทธิคืนพื้นที่หลังจากสิ้นปีที่สี่นับแต่วันเริ่มระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจแปลงนั้น ให้ผู้รับสัมปทานมีสิทธิได้รับการลดหย่อนในการปฏิบัติตามข้อผูกพันสำหรับการสำรวจปิโตรเลียมในช่วงข้อผูกพันช่วงที่สองนับแต่วันเริ่มต้นของปีที่ห้าของระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจแปลงนั้น ทั้งนี้ ตามอัตราส่วนของพื้นที่ที่คืนแต่ละครั้ง กับพื้นที่ที่ผู้รับสัมปทานถืออยู่ในวันเริ่มต้นของปีที่ห้า หรือตามอัตราส่วนของระยะเวลาที่ยังเหลืออยู่ในช่วงข้อผูกพันช่วงที่สองนับแต่วันที่มีการคืนแต่ละครั้ง กับระยะเวลาทั้งสิ้นของช่วงข้อผูกพันช่วงที่สองนับจากวันเริ่มปีที่ห้า สุดแต่อัตราใดจะน้อยกว่า
ภายใต้บังคับมาตรา 39 ในการใช้สิทธิคืนพื้นที่แปลงสำรวจบางส่วนในช่วงข้อผูกพันช่วงที่สาม ผู้รับสัมปทานไม่มีสิทธิได้รับการลดหย่อนในการปฏิบัติตามข้อผูกพัน สำหรับการสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจแปลงนั้นในช่วงข้อผูกพันช่วงที่สาม”
มาตรา 13 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 42 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514
“มาตรา 42 ทวิ เมื่อผู้รับสัมปทานได้รับความเห็นชอบของอธิบดี ให้ผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ผลิตตามมาตรา 42 แล้ว ให้ผู้รับสัมปทานยื่นแผนการผลิตในรายละเอียดสำหรับพื้นที่ผลิตดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาตามที่กำหนดในกฎกระทรวงและผู้รับสัมปทานต้องเริ่มทำการผลิตปิโตรเลียมตามแผนภายในสี่ปีนับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีตามมาตรา 42 ถ้าผู้รับสัมปทานไม่เริ่มทำการผลิตปิโตรเลียมภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมสำหรับพื้นที่ที่ได้กำหนดให้เป็นพื้นที่ผลิตนั้นสิ้นสุดลง
ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานประสงค์จะขอขยายระยะเวลาเริ่มทำการผลิตปิโตรเลียมออกไปจากกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้รับสัมปทานแจ้งเป็นหนังสือพร้อมด้วยเหตุผลให้อธิบดีทราบล่วงหน้าก่อนสิ้นสุดระยะเวลาตามวรรคหนึ่งไม่น้อยกว่าหกเดือน ถ้าอธิบดีเห็นว่าการที่ผู้รับสัมปทานไม่สามารถเริ่มทำการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ผลิตนั้นมิใช่ความผิดของผู้รับสัมปทาน ให้อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจอนุญาตให้ขยายระยะเวลาเริ่มทำการผลิตออกไปได้ตามที่เห็นสมควร แต่การอนุญาตให้ขยายระยะเวลาเริ่มทำการผลิตปิโตรเลียมให้กระทำได้ไม่เกินคราวละสองปีและให้อนุญาตขยายได้ไม่เกินสองคราว
ตลอดระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ผลิต ผู้รับสัมปทานจะต้องทบทวนแผนการผลิตปิโตรเลียมตามวรรคหนึ่ง แล้วแจ้งผลการทบทวนเป็นหนังสือต่ออธิบดีทุกปี และถ้าผู้รับสัมปทานประสงค์จะเปลี่ยนแปลงแผนการผลิตปิโตรเลียม ให้ผู้รับสัมปทานได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีก่อนจึงจะเปลี่ยนแปลงแผนการผลิตปิโตรเลียมได้”
มาตรา 14 ให้ยกเลิกความในมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 45 เมื่อสิ้นระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจแปลงใด และผู้รับสัมปทานได้รับสิทธิผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจแปลงนั้นแล้วผู้รับสัมปทานมีสิทธิสงวนพื้นที่ในแปลงสำรวจแปลงนั้นไว้ได้ไม่เกินร้อยละสิบสองครึ่งของพื้นที่เดิมของแปลงสำรวจแปลงนั้น ตามระยะเวลาที่ผู้รับสัมปทานกำหนดแต่ต้องกำหนดไม่เกินห้าปีนับแต่วันสิ้นระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจแปลงนั้น แต่ผู้รับสัมปทานจะคืนพื้นที่แปลงสำรวจที่ขอสงวนไว้นั้นก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าวก็ได้
ในการสงวนพื้นที่ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อการสงวนพื้นที่ได้เป็นไปโดยถูกต้องแล้ว ผู้รับสัมปทานย่อมมีสิทธิสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่ที่สงวนไว้นั้นได้ และให้ผู้รับสัมปทานเสียค่าสงวนพื้นที่ล่วงหน้าเป็นรายปีตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานพบปิโตรเลียมในเขตพื้นที่ที่สงวนไว้และประสงค์จะผลิตปิโตรเลียม ให้นำมาตรา 42 มาใช้บังคับ”
มาตรา 15 ให้ยกเลิกความในมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 48 ผู้รับสัมปทานมีสิทธิโอนสัมปทานทั้งหมด หรือเฉพาะที่เกี่ยวกับแปลงสำรวจแปลงใดแปลงหนึ่ง พื้นที่ผลิต หรือพื้นที่ที่สงวนไว้เขตใดเขตหนึ่งให้แก่บริษัทอื่นโดยไม่ต้องขอรับอนุญาตในกรณี ดังต่อไปนี้
(1) บริษัทผู้รับสัมปทานถือหุ้นในบริษัทผู้รับโอนสัมปทานนั้นเกินร้อยละห้าสิบของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้
(2) บริษัทผู้รับโอนสัมปทานถือหุ้นในบริษัทผู้รับสัมปทานเกินร้อยละห้าสิบของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้ หรือ
(3) มีบริษัทที่สามถือหุ้นเกินร้อยละห้าสิบของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้ทั้งในบริษัทผู้รับสัมปทานและบริษัทผู้รับโอนสัมปทาน
การโอนตามวรรคหนึ่ง ผู้รับสัมปทานต้องแจ้งเป็นหนังสือให้รัฐมนตรีทราบพร้อมทั้งแสดงหลักฐานว่าการโอนดังกล่าวได้เป็นไปตามกรณีที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง และในกรณีที่ผู้รับสัมปทานได้มีการรับรองของบริษัทที่มีความสัมพันธ์ในด้านทุนหรือด้านการจัดการกับผู้รับสัมปทานเกี่ยวกับทุน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์และผู้เชี่ยวชาญ ตามมาตรา 24 วรรคสอง ผู้รับสัมปทานต้องยื่นหลักฐานแสดงการรับรองผู้รับโอนสัมปทานโดยบริษัทดังกล่าวให้แก่รัฐมนตรีด้วย ทั้งนี้ เว้นแต่รัฐมนตรีจะเห็นว่าผู้รับโอนสัมปทานเป็นผู้ที่ยื่นขอสัมปทานได้โดยไม่ต้องมีการรับรองหรือมีบริษัทอื่นที่รัฐบาลเชื่อถือเข้ารับรองผู้รับโอนสัมปทานแทนตามมาตรา 24 แล้ว
การโอนตามมาตรานี้ จะมีผลต่อเมื่อผู้รับสัมปทานได้รับหนังสือแจ้งจากอธิบดีว่าการโอนได้เป็นไปโดยถูกต้องตามมาตรานี้แล้ว”
มาตรา 16 ให้ยกเลิกความใน (3) ของมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(3) ไม่ชำระค่าภาคหลวงหรือผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ”
มาตรา 17 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 52 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514
“มาตรา 52 ทวิ ในกรณีที่รัฐมีความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐบาลอาจขอให้ผู้รับสัมปทานเร่งรัดการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ที่ผู้รับสัมปทานได้สงวนไว้ตามมาตรา 45 ก็ได้ โดยเสนอแผนการผลิตในเขตพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะตามโครงสร้างของแหล่งปิโตรเลียม
ถ้าพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ที่มีสภาพทางธรณีวิทยาไม่เอื้ออำนวย รัฐบาลจะเสนอให้มีการลดหย่อนค่าภาคหลวงตามมาตรา 99 ทวิ และ/หรือ เสนอเพิ่มค่าคงที่แสดงสภาพทางธรณีวิทยาของแปลงสำรวจตามมาตรา 100 ฉ (ข) สำหรับพื้นที่นั้นหรือไม่ก็ได้
ถ้าผู้รับสัมปทานไม่สามารถเจรจาทำความตกลงกับรัฐบาลได้ภายในสิบสองเดือนนับแต่วันที่ผู้รับสัมปทานได้รับข้อเสนอจากรัฐบาลตามวรรคหนึ่ง และรัฐบาลเห็นว่าการเร่งรัดการผลิตปิโตรเลียมดังกล่าวเป็นความจำเป็นแก่เศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลมีสิทธิแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับสัมปทานทราบว่า รัฐบาลจะเข้าใช้สิทธิประกอบกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่นั้นด้วยความเสี่ยงภัยแต่ฝ่ายเดียว
เมื่อรัฐบาลได้แจ้งให้ผู้รับสัมปทานทราบถึงการเข้าใช้สิทธิดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าสิทธิตามสัมปทานของผู้รับสัมปทานเฉพาะในพื้นที่ที่ได้กำหนดขึ้นตามวรรคหนึ่งสิ้นสุดลง และรัฐบาลมีอำนาจมอบหมายให้ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือผู้หนึ่งผู้ใดเข้าประกอบกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าวได้
หากในการประกอบกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าวมีผลกำไรปิโตรเลียมประจำปีตามมาตรา 100 จัตวา ของหมวด 7 ทวิ เกิดขึ้นให้รัฐบาลนำผลกำไรปิโตรเลียมประจำปีดังกล่าวชำระคืนเงินลงทุนอันเป็นรายจ่ายที่ผู้รับสัมปทานได้ใช้จ่ายในพื้นที่ดังกล่าว ให้แก่ผู้รับสัมปทานจนกว่าจะครบจำนวน และในการคำนวณผลกำไรขาดทุนสำหรับการประกอบกิจการปิโตรเลียมของรัฐตามมาตรานี้ ให้คำนวณดังเช่นการคำนวณสำหรับการประกอบกิจการปิโตรเลียมของผู้รับสัมปทานอื่น แต่มิให้มีค่าลดหย่อนพิเศษตามมาตรา 100 ตรี (4) เพื่อนำมาคำนวณเป็นค่าใช้จ่าย
ในระหว่างการประกอบกิจการปิโตรเลียมของรัฐบาลตามมาตรานี้ ผู้รับสัมปทานมีสิทธิขอเข้าร่วมทุนกับรัฐบาลได้ โดยใช้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามข้อกำหนดว่าด้วยการประกอบกิจการปิโตรเลียมโดยการเสี่ยงภัยลงทุนแต่ฝ่ายเดียว ของสัญญาร่วมทุนระหว่างผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมที่ใช้กันอยู่ในประเทศไทยที่ให้ผลดีที่สุดแก่ผู้รับสัมปทาน แต่การขอใช้สิทธิเช่นนั้นจะต้องแจ้งให้รัฐบาลทราบอย่างช้าภายในสามปีนับแต่วันที่รัฐบาลได้เข้าใช้สิทธิประกอบกิจการปิโตรเลียมตามมาตรานี้
ถ้ารัฐบาลไม่เริ่มต้นประกอบกิจการปิโตรเลียมอย่างจริงจังในพื้นที่ที่กำหนดขึ้นตามวรรคหนึ่งภายในระยะเวลาสองปี นับแต่วันที่สิทธิตามสัมปทานของผู้รับสัมปทานนั้นสิ้นสุดลงตามวรรคสี่ ผู้รับสัมปทานมีสิทธิร้องขอให้รัฐบาลคืนสิทธิในพื้นที่ดังกล่าวให้แก่ตนโดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อรัฐมนตรีภายในระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันที่ครบกำหนดสองปีดังกล่าว และในกรณีที่มีการคืนสิทธิในพื้นที่ ให้ขยายอายุสัมปทานของผู้รับสัมปทานเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับพื้นที่นั้นออกไปเท่ากับระยะเวลาที่รัฐบาลได้เข้าใช้สิทธิตามมาตรานี้ และรัฐบาลมีสิทธิได้รับคืนเงินที่ได้ลงทุนไปในพื้นที่ดังกล่าวเป็นจำนวนเท่าที่การลงทุนนั้นได้เกิดประโยชน์แก่ผู้รับสัมปทาน”
มาตรา 18 ให้ยกเลิกความในมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 59 ก่อนส่งน้ำมันดิบออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่การส่งออกเพื่อการวิเคราะห์หรือการทดลอง ผู้รับสัมปทานต้องประกาศราคา เอฟ โอ บี ณ จุดที่ส่งออก ตามชนิด ความถ่วงจำเพาะและคุณภาพของน้ำมันดิบนั้น
ราคาที่ประกาศตามวรรคหนึ่งต้องกำหนดและเปลี่ยนแปลงเป็นครั้งคราวตามวิธีกำหนดคุณภาพที่ทันสมัย ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงราคาประกาศของน้ำมันดิบที่เทียบเคียงกันจากประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันกับประเทศไทย ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของจุดที่ส่งออกและจุดที่รับซื้อ รวมทั้งช่องทางที่จำหน่ายได้ในตลาดและค่าขนส่งด้วย
ในกรณีที่อธิบดีเห็นว่าราคาที่ผู้รับสัมปทานประกาศไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามวรรคสอง ให้อธิบดีแจ้งให้ผู้รับสัมปทานแก้ไขราคาประกาศให้เป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนด หากผู้รับสัมปทานยังไม่แก้ไขหรือแก้ไขแล้วแต่ยังไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามวรรคสอง ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดราคาประกาศขึ้นใหม่แทนผู้รับสัมปทาน
หากผู้รับสัมปทานเห็นว่าราคาที่อธิบดีประกาศตามวรรคสามไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดตามวรรคสอง ผู้รับสัมปทานมีสิทธิร้องขอต่อศาลเพื่อให้กำหนดราคาประกาศใหม่ได้ แต่ต้องร้องขอภายในระยะเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันที่อธิบดีกำหนดราคาประกาศ และให้ศาลมีอำนาจกำหนดราคาประกาศได้ตามที่เห็นสมควร ถ้าผู้รับสัมปทานไม่ร้องขอต่อศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าราคาประกาศเป็นไปตามที่อธิบดีกำหนด
ในกรณีที่มีการร้องขอต่อศาลตามวรรคสี่ ให้ราคาประกาศเป็นไปตามที่อธิบดีกำหนดไปพลางก่อนจนกว่าจะมีคำสั่งของศาลเป็นที่สุด”
มาตรา 19 ให้ยกเลิกความใน (3) ของมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(3) ค่าภาคหลวง ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ และค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้”
มาตรา 20 ให้ยกเลิกความในมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 76 ผู้รับสัมปทานต้องรายงานผลการประกอบกิจการปิโตรเลียมต่อกรมทรัพยากรธรณีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กรมทรัพยากรธรณีกำหนด
รายงานตามวรรคหนึ่งให้ถือเป็นความลับและมิให้เปิดเผยจนกว่าจะพ้นหนึ่งปี นับแต่วันที่กรมทรัพยากรธรณีได้รับรายงานหรือพึงได้รับรายงานตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่
(1) เป็นการเปิดเผยในการปฏิบัติราชการแก่ส่วนราชการหรือบุคคลซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการ
(2) เป็นการนำข้อสนเทศจากรายงานนั้นไปใช้ในการเรียบเรียงและเผยแพร่รายงานหรือบันทึกทางวิทยาศาสตร์ เทคนิคหรือสถิติ โดยได้รับอนุมัติจากอธิบดีแล้ว ทั้งนี้ ต้องหลีกเลี่ยงการเปิดเผยข้อสนเทศด้านพาณิชย์ให้มากที่สุด หรือ
(3) ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้รับสัมปทานให้เปิดเผยได้ แต่การให้หรือไม่ให้ความยินยอมของผู้รับสัมปทานต้องกระทำโดยไม่ชักช้า
ความในวรรคสองไม่ใช้บังคับแก่รายงานเกี่ยวกับการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ผลิตและรายงานเกี่ยวกับพื้นที่ที่ผู้รับสัมปทานได้คืนพื้นที่แล้วตามมาตรา 36 หรือมาตรา 37”
มาตรา 21 ให้ยกเลิก (1) ของมาตรา 82 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514
มาตรา 22 ให้ยกเลิกความในมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2516 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 84 ภายใต้บังคับมาตรา 99 มาตรา 99 ทวิ และมาตรา99 ตรี ให้ผู้รับสัมปทานเสียค่าภาคหลวงสำหรับปิโตรเลียมที่ผู้รับสัมปทานผลิตได้ในแต่ละแปลงสำรวจ ดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่เสียเป็นตัวเงิน ให้ผู้รับสัมปทานเสียค่าภาคหลวงตามมูลค่าปิโตรเลียมที่ขายหรือจำหน่ายได้ในเดือนนั้น ในอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราค่าภาคหลวงท้ายพระราชบัญญัตินี้ หรือ
(2) ในกรณีที่เสียเป็นปิโตรเลียม ให้เสียเป็นปริมาณปิโตรเลียมที่คำนวณเป็นมูลค่าได้เท่ากับจำนวนค่าภาคหลวงที่พึงเสียเป็นตัวเงินตาม (1) ทั้งนี้ โดยให้คำนวณปิโตรเลียมที่เสียเป็นค่าภาคหลวงรวมเป็นปิโตรเลียมที่ขายหรือจำหน่วยด้วย
มูลค่าปิโตรเลียมที่ขายหรือจำหน่ายได้ในเดือนนั้นตาม (1) หมายถึงมูลค่าปิโตรเลียมทั้งสิ้นที่ผู้รับสัมปทานขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมทุกชนิดในรอบเดือน
สำหรับปิโตรเลียมที่ผลิตได้จากพื้นที่ผลิตในแปลงสำรวจที่กรมทรัพยากรธรณีกำหนดว่าเป็นแปลงสำรวจในทะเลที่มีน้ำลึกเกินสองร้อยเมตร ให้ผู้รับสัมปทานเสียค่าภาคหลวงเป็นจำนวนร้อยละเจ็ดสิบของจำนวนค่าภาคหลวงที่ต้องเสียตามวรรคหนึ่ง”
มาตรา 23 ให้ยกเลิกความใน (จ) ของ (2) ของมาตรา 85 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(จ) ปิโตรเลียมนอกจาก (ก) ถึง (ง) ให้ถือราคาที่ขายได้จริงในกรณีที่มีการขาย และให้ถือราคาตลาดในกรณีที่มีการจำหน่าย”
มาตรา 24 ให้ยกเลิกความในมาตรา 87 มาตรา 88 และมาตรา 89 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 87 ในกรณีที่ให้เสียค่าภาคหลวงเป็นตัวเงิน ให้ผู้รับสัมปทานชำระเป็นรายเดือนปฏิทิน
ค่าภาคหลวงสำหรับปิโตรเลียมที่ขายหรือจำหน่ายในเดือนใด ให้ถือเป็นค่าภาคหลวงสำหรับเดือนนั้น และให้ผู้รับสัมปทานชำระต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเดือนถัดไป ณ สถานที่ที่อธิบดีกำหนด พร้อมทั้งยื่นแบบแสดงรายการเสียค่าภาคหลวงตามที่อธิบดีกำหนดโดยแสดงรายการครบถ้วนตามแบบนั้น และยื่นเอกสารประกอบตามที่อธิบดีกำหนดด้วย
ผู้รับสัมปทานจะยื่นคำขอชำระค่าภาคหลวงเป็นเงินตราต่างประเทศสกุลใดก็ได้ เมื่อรัฐมนตรีพิจารณาเห็นสมควร จะอนุมัติให้ชำระเป็นเงินตราต่างประเทศสกุลนั้น ตามเงื่อนไขและวิธีการที่กำหนดก็ได้
มาตรา 88 ในกรณีที่มีการส่งน้ำมันดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่กลั่นจากน้ำมันดิบที่ผู้รับสัมปทานขายหรือจำหน่ายในราชอาณาจักร ออกนอกราชอาณาจักรโดยผู้รับสัมปทานมิได้เสียค่าภาคหลวงสำหรับน้ำมันดิบที่ส่งออกตามราคาประกาศที่กำหนดไว้ในมาตรา 85 (2) (ก) ให้ผู้รับสัมปทานหรือผู้ที่ทำการส่งออกเสียค่าภาคหลวงสำหรับน้ำมันดิบที่ส่งออกนอกราชอาณาจักร หรือสำหรับน้ำมันดิบส่วนที่กลั่นเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกนอกราชอาณาจักรเป็นจำนวนเท่ากับความแตกต่างระหว่างค่าภาคหลวงที่รัฐพึงได้รับจากผู้รับสัมปทาน ถ้าผู้รับสัมปทานเป็นผู้ส่งน้ำมันดิบดังกล่าวออกเอง ณ เวลาที่มีการส่งออก กับค่าภาคหลวงที่รัฐได้รับจากผู้รับสัมปทานเมื่อผู้รับสัมปทานขายหรือจำหน่ายน้ำมันดิบภายในราชอาณาจักร
มาตรา 89 การเก็บค่าภาคหลวงตามมาตรา 88 มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(1) ปริมาณน้ำมันดิบที่ส่งออกในรอบเดือน ได้แก่
(ก) ในกรณีที่การส่งออกเป็นน้ำมันดิบ คือ ปริมาณน้ำมันดิบที่ผู้รับสัมปทานหรือผู้ที่ทำการส่งออก ได้ส่งออกทั้งสิ้นในรอบเดือน
(ข) ในกรณีที่การส่งออกเป็นผลิตภัณฑ์ที่กลั่นจากน้ำมันดิบคือปริมาณน้ำมันดิบที่ใช้กลั่นเพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ตามปริมาณที่มีการส่งออกในรอบเดือน ปริมาณน้ำมันดิบดังกล่าวให้คำนวณด้วยการนำปริมาณน้ำมันดิบที่ใช้ในการกลั่นผลิตภัณฑ์ชนิดที่ส่งออกในรอบเดือนเฉพาะส่วนที่ผู้รับสัมปทานได้ขายหรือจำหน่ายในราชอาณาจักรคูณด้วย “อัตรามาตรฐานร้อยละ” ของปริมาณผลิตภัณฑ์ชนิดที่ส่งออกที่จะพึงได้มาจากการกลั่นน้ำมันดิบที่ใช้กลั่นนั้น คูณด้วยปริมาณผลิตภัณฑ์ที่มีการส่งออกนอกราชอาณาจักรในรอบเดือนนั้นและหารด้วยปริมาณผลิตภัณฑ์ชนิดที่ส่งออกซึ่งกลั่นได้ทั้งสิ้นในรอบเดือน
“อัตรามาตรฐานร้อยละ” ของผลิตภัณฑ์ชนิดที่ส่งออกที่จะได้มาจากการกลั่นน้ำมันดิบ ให้คำนวณตามชนิดของน้ำมันดิบที่ใช้กลั่น วิธีการกลั่นและเงื่อนไขทางเทคนิคอื่น ตามที่กรมทรัพยากรธรณีกำหนด
(2) ราคาประกาศที่ใช้สำหรับคำนวณค่าภาคหลวงสำหรับน้ำมันดิบที่ส่งออกได้แก่ ราคาประกาศ ณ เวลาที่มีการส่งออก ในกรณีที่ไม่มีราคาประกาศ ให้ใช้ราคาประกาศสำหรับน้ำมันดิบที่มีคุณภาพอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันของผู้รับสัมปทานรายอื่น และในกรณีที่ไม่มีราคาประกาศดังกล่าว ให้อธิบดีกำหนดราคาประกาศโดยคำนึงถึงสภาพการณ์ตามที่กำหนดในมาตรา 59 วรรคสอง
(3) วิธีการคำนวณความแตกต่างของค่าภาคหลวงตามมาตรา 88 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกะทรวง
(4) หลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่นนอกจากที่กำหนดในมาตรานี้ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติในหมวดนี้”
มาตรา 25 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 90 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 90 ในกรณีที่ให้เสียค่าภาคหลวงเป็นปิโตรเลียม ให้ผู้รับสัมปทานชำระเป็นรายเดือนตามมาตรา 87 วรรคหนึ่ง และให้ชำระต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเวลาและตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด ณ สถานที่ตามมาตรา 85 วรรคสอง พร้อมกับยื่นแบบแสดงรายการเสียค่าภาคหลวงตามที่อธิบดีกำหนดโดยแสดงรายการครบถ้วนตามแบบนั้นและยื่นเอกสารประกอบตามที่อธิบดีกำหนดด้วย”
มาตรา 26 ให้ยกเลิกความในมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 94 เมื่ออธิบดีได้ประเมินค่าภาคหลวงแล้ว ให้แจ้งผลการประเมินเป็นหนังสือไปยังผู้รับสัมปทาน พร้อมกับกำหนดเวลาให้ผู้รับสัมปทานชำระค่าภาคหลวงตามที่ประเมินภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินของอธิบดี
ถ้าผู้รับสัมปทานไม่พอใจในผลการประเมินของอธิบดี ให้ผู้รับสัมปทานมีสิทธิร้องขอต่อศาลเพื่อให้กำหนดค่าภาคหลวงใหม่ได้ แต่ต้องร้องขอภายในระยะเวลาไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการประเมินและให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าภาคหลวงได้ตามที่เห็นสมควร ถ้าผู้รับสัมปทานไม่ร้องขอต่อศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าค่าภาคหลวงเป็นไปตามการประเมินของอธิบดี
การร้องขอต่อศาลตามวรรคสองไม่เป็นเหตุทุเลาการชำระค่าภาคหลวง และเพื่อประโยชน์ในการชำระค่าภาคหลวงในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ให้จำนวนค่าภาคหลวงเป็นไปตามที่อธิบดีประเมินตามมาตรา 91 หรือตามที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 92”
มาตรา 27 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 99 ทวิ และมาตรา 99 ตรี แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514
“มาตรา 99 ทวิ เพื่อส่งเสริมและเร่งรัดให้มีการสำรวจและ/หรือพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่บางพื้นที่ภายในแปลงสำรวจหรือในพื้นที่ผลิตของผู้รับสัมปทาน ที่มีสภาพทางธรณีวิทยาไม่เอื้ออำนวยและไม่อยู่ในแผนการสำรวจหรือแผนการผลิตของผู้รับสัมปทาน ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ มีอำนาจลดหย่อนค่าภาคหลวงให้แก่ผู้รับสัมปทานโดยทำความตกลงกับผู้รับสัมปทานเพื่อให้ผู้รับสัมปทานทำการสำรวจและ/หรือพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ตามแผนซึ่งกรมทรัพยากรธรณีจะได้กำหนดขึ้นตามที่จะได้ตกลงกัน
ในการให้คำแนะนำต่อรัฐมนตรีเพื่อลดหย่อนค่าภาคหลวงตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการคำนึงถึงสภาพทางธรณีวิทยาและศักยภาพทางปิโตรเลียมของพื้นที่ดังกล่าว สถิติค่าใช้จ่ายในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ที่มีสภาพทางธรณีวิทยาคล้ายคลึงกันความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมภายในประเทศ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในตลาด และผลได้ผลเสียอื่น ๆ ของประเทศที่จะได้รับจากการเร่งรัดให้มีการสำรวจและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม
ค่าภาคหลวงที่จะลดหย่อนตามมาตรานี้ จะต้องเป็นค่าภาคหลวงที่เกิดจากกิจการปิโตรเลียมที่ผู้รับสัมปทานดำเนินการอยู่แล้วในแปลงสำรวจหรือพื้นที่ผลิตนั้น หรือเป็นค่าภาคหลวงที่จะเกิดขึ้นจากการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ที่กรมทรัพยากรธรณีกำหนดไว้ในแผน และการลดหย่อนดังกล่าวจะต้องไม่เกินร้อยละสามสิบของจำนวนค่าภาคหลวงที่ผู้รับสัมปทานพึงต้องเสียสำหรับปิโตรเลียมทั้งหมดที่ผลิตได้ในแปลงสำรวจและพื้นที่ผลิตที่อยู่ในแปลงสำรวจนั้น หรือไม่เกินร้อยละสามสิบของจำนวนค่าภาคหลวงที่จะเกิดจากการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ที่กรมทรัพยากรธรณีกำหนด แล้วแต่กรณี โดยระยะเวลาที่ได้รับลดหย่อนจะต้องไม่เกินสี่ปีนับแต่วันที่ได้ทำความตกลงหรือนับแต่วันที่อธิบดีได้ให้ความเห็นชอบในการกำหนดพื้นที่ผลิตตามมาตรา 42 สำหรับพื้นที่ผลิตแต่ละแห่งที่อยู่ในพื้นที่ที่กำหนดในแผนของกรมทรัพยากรธรณี แล้วแต่กรณี และในความตกลงกับผู้รับสัมปทานดังกล่าว จะมีเงื่อนไขหรือมีข้อกำหนดอย่างใด ๆ ตามควรแก่กรณีก็ได้
มาตรา 99 ตรี ในพื้นที่ที่สภาพทางธรณีวิทยาบ่งชี้ว่าการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่นั้นจำเป็นต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงมาก รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการอาจให้สัมปทานสำหรับพื้นที่ดังกล่าวโดยลดหย่อนค่าภาคหลวงสำหรับปิโตรเลียมที่เริ่มผลิตขึ้นมาจากพื้นที่นั้นตามจำนวนปิโตรเลียมที่จะกำหนดไว้ในสัมปทานก็ได้ แต่พื้นที่ที่กำหนดให้สัมปทานดังกล่าวจะต้องมีขนาดไม่เกินสองร้อยตารางกิโลเมตรและค่าภาคหลวงที่จะลดหย่อนต้องไม่เกินกว่าร้อยละสามสิบของจำนวนค่าภาคหลวงที่จะพึงเสียโดยระยะเวลาที่ผู้รับสัมปทานมีสิทธิได้รับลดหย่อนค่าภาคหลวงจะต้องไม่เกินสามปีนับแต่วันที่อธิบดีได้ให้ความเห็นชอบในการกำหนดพื้นที่ผลิตตามมาตรา 42 สำหรับพื้นที่ผลิตแต่ละแห่ง
ในการให้คำแนะนำของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้นำหลักเกณฑ์ตามมาตรา 99 ทวิ วรรคสอง มาใช้บังคับ และในการให้สัมปทานตามมาตรานี้มิให้นับรวมเป็นจำนวนแปลงสำรวจหรือเป็นพื้นที่ของแปลงสำรวจตามข้อจำกัดของการให้สัมปทานตามมาตรา 28
การเปิดให้สัมปทานตามวรรคหนึ่ง ให้กรมทรัพยากรธรณีกำหนดข้อผูกพันในด้านปริมาณเงินและ/หรือปริมาณงานขั้นต่ำสำหรับการสำรวจปิโตรเลียม ที่ผู้ขอสัมปทานจะต้องปฏิบัติหากได้รับสัมปทานจากรัฐบาล โดยได้รับการลดหย่อนค่าภาคหลวงตามมาตรานี้”
มาตรา 28 ให้ยกเลิกความในมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 100 ในการเก็บค่าภาคหลวงจากบุคคลตามมาตรา 88 จากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้รับสัมปทาน รัฐมนตรีจะมอบให้กรมสรรพสามิตเก็บแทนกรมทรัพยากรธรณีก็ได้”
มาตรา 29 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด 7 ทวิ กับมาตรา 100 ทวิ มาตรา 100 ตรี มาตรา 100 จัตวา มาตรา 100 เบญจ มาตรา 100 ฉ มาตรา 100 สัตต และมาตรา 100 อัฏฐ แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514