พระราชบัญญัติ
ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 3)
พ.ศ. 2522
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2522
เป็นปีที่ 34 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522”
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 25 ระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมตามสัมปทานให้มีกำหนดไม่เกินแปดปีนับแต่วันให้สัมปทาน
ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานประสงค์จะขอต่อระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม ให้ผู้รับสัมปทานยื่นคำขอต่อระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมพร้อมกับเสนอข้อผูกพันในด้านปริมาณเงินปริมาณงานหรือทั้งปริมาณเงินและปริมาณงานสำหรับการสำรวจปิโตรเลียมในช่วงข้อผูกพันช่วงที่สามก่อนสิ้นระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมไม่น้อยกว่าหกเดือน แต่ถ้าผู้รับสัมปทานขอสำรวจปิโตรเลียมไม่เกินห้าปี ไม่มีสิทธิขอต่อระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมอีก
การต่อระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมให้กระทำได้เมื่อผู้รับสัมปทานได้ปฏิบัติตามสัมปทานทุกประการและได้ตกลงในเรื่องข้อผูกพันช่วงที่สาม สำหรับการสำรวจปิโตรเลียมก่อนสิ้นช่วงข้อผูกพันช่วงที่สองไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน
การต่อระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมให้กระทำได้เพียงครั้งเดียวเป็นเวลาไม่เกินสี่ปี”
มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 26 ระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมตามสัมปทานให้มีกำหนดไม่เกินสามสิบปีนับแต่วันถัดจากวันสิ้นระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม แม้จะมีการผลิตปิโตรเลียมในระหว่างระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมด้วยก็ตาม
ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานประสงค์จะขอต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม ให้ผู้รับสัมปทานยื่นคำขอต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมก่อนสิ้นระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมไม่น้อยกว่าหกเดือน
การต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมให้กระทำได้เมื่อผู้รับสัมปทานได้ปฏิบัติตามสัมปทานทุกประการและได้ตกลงในเรื่องข้อกำหนด ข้อผูกพัน และเงื่อนไขที่ใช้อยู่ทั่วไปในขณะนั้นก่อนสิ้นระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน
การต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมให้กระทำได้เพียงครั้งเดียวเป็นเวลาไม่เกินสิบปี”
มาตรา 5 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514
“ในช่วงข้อผูกพันช่วงใดจะแบ่งการปฏิบัติตามข้อผูกพันนั้นโดยกำหนดเป็นระยะเวลาไว้ในสัมปทานก็ได้ และในกรณีนี้ ผู้รับสัมปทานต้องปฏิบัติตามข้อผูกพันให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้นั้น”
มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 32 เมื่อสิ้นช่วงข้อผูกพันช่วงหนึ่ง ๆ หรือสิ้นระยะเวลาหนึ่งในช่วงข้อผูกพันช่วงหนึ่ง ๆ ตามที่กำหนดไว้ในสัมปทาน หรือในกรณีที่มีการคืนพื้นที่แปลงสำรวจทั้งแปลงในช่วงข้อผูกพันช่วงที่หนึ่ง ถ้าผู้รับสัมปทานยังปฏิบัติตามข้อผูกพันสำหรับการสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจแปลงใดไม่ครบตามที่กำหนดไว้ในสัมปทานผู้รับสัมปทานต้องจ่ายเงินส่วนที่ยังมิได้ใช้จ่ายไปในช่วงข้อผูกพันช่วงนั้นหรือระยะเวลาระยะนั้นให้แก่กรมทรัพยากรธรณีภายในสามสิบวันนับแต่วันสิ้นช่วงข้อผูกพันหรือระยะเวลา หรือวันคืนพื้นที่แปลงสำรวจแปลงนั้น แล้วแต่กรณี”
มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 34 ในการสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจแปลงใด ในช่วงข้อผูกพันช่วงใดหรือระยะเวลาระยะใดในช่วงข้อผูกพันช่วงใดตามที่กำหนดไว้ในสัมปทาน ถ้าผู้รับสัมปทานได้ใช้จ่ายหรือได้กระทำไปเกินข้อผูกพันสำหรับการสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจแปลงนั้นในช่วงข้อผูกพันช่วงนั้นหรือระยะเวลาระยะนั้น ให้มีสิทธิหักปริมาณเงิน ปริมาณงาน หรือทั้งปริมาณเงินและปริมาณงาน ส่วนที่เกินออกจากข้อผูกพันสำหรับการสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจแปลงนั้นในช่วงข้อผูกพันหรือระยะเวลาถัดไปได้”
มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“รายงานตามวรรคหนึ่งให้ถือเป็นความลับและมิให้เปิดเผยจนกว่าพ้นสองปีนับแต่วันที่สัมปทานสิ้นอายุ หรือถูกเพิกถอน แล้วแต่กรณี แต่ถ้าเป็นรายงานเกี่ยวกับพื้นที่ที่ผู้รับสัมปทานคืนตามมาตรา 36 ระยะเวลาสองปีให้นับแต่วันคืนพื้นที่ ทั้งนี้ เว้นแต่
(1) เป็นการเปิดเผยในการปฏิบัติราชการแก่ส่วนราชการ หรือบุคคลซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการ
(2) เป็นการนำข้อสนเทศจากรายงานนั้นไปใช้ในการเรียบเรียง และเผยแพร่รายงานหรือบันทึกทางวิทยาศาสตร์ เทคนิค หรือสถิติ โดยได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีแล้ว ทั้งนี้ ต้องหลีกเลี่ยงการเปิดเผยข้อสนเทศด้านพาณิชย์ให้มากที่สุด หรือ
(3) ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้รับสัมปทานให้เปิดเผยได้ แต่การให้หรือไม่ให้ความยินยอมของผู้รับสัมปทานต้องกระทำโดยไม่ชักช้า”
มาตรา 9 บทบัญญัติมาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 31 มาตรา 32 และมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ไม่กระทบกระเทือนสิทธิตามสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ได้ออกไปก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา 10 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ส. โหตระกิตย์
รองนายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ในส่วนที่ว่าด้วยการต่อระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม การต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม การปฏิบัติตามข้อผูกพันในการสำรวจปิโตรเลียม และการเปิดเผยรายงานเกี่ยวกับการสำรวจปิโตรเลียมยังไม่รัดกุม สมควรแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ภคินี/แก้ไข
31/1/2545
A+B (C)
ปัญญา/แก้ไข
30 กรกฎาคม 2552