พระราชบัญญัติ
ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 2)
พ.ศ. 2516
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2516
เป็นปีที่ 28 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2516”
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสี่ ของมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514
“บทบัญญัติวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่การให้สัมปทานสำหรับแปลงสำรวจที่กรมทรัพยากรธรณีกำหนดว่าเป็นแปลงสำรวจในทะเลที่มีน้ำลึกเกินสองร้อยเมตร ในกรณีดังกล่าวรัฐมนตรีมีอำนาจให้ผู้ขอสัมปทานได้รับสัมปทานตามจำนวนแปลงสำรวจและจำนวนพื้นที่ของแปลงสำรวจทั้งหมดที่รัฐมนตรีพิจารณาเห็นสมควร”
มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 33 การโอนข้อผูกพันสำหรับการสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจระหว่างแปลงหนึ่งกับอีกแปลงหนึ่งจะกระทำได้เมื่อมีเหตุอันสมควร และได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่การโอนข้อผูกพันสำหรับการสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจระหว่างแปลงที่กรมทรัพยากรธรณีกำหนดว่าเป็นแปลงสำรวจในทะเลที่มีน้ำลึกเกินสองร้อยเมตรกับแปลงหนึ่งที่มิใช่แปลงสำรวจที่กรมทรัพยากรธรณีกำหนดว่าเป็นแปลงสำรวจ ในทะเลที่มีน้ำลึกเกินสองร้อยเมตรจะกระทำมิได้”
มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 36 ภายใต้บังคับมาตรา 45 ผู้รับสัมปทานต้องคืนพื้นที่แปลงสำรวจแปลงหนึ่ง ๆ ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(1) เมื่อครบห้าปีนับแต่วันเริ่มระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม ต้องคืนพื้นที่ร้อยละห้าสิบของพื้นที่แปลงสำรวจแปลงนั้น แต่ถ้าเป็นแปลงสำรวจที่กรมทรัพยากรธรณีกำหนดว่าเป็นแปลงสำรวจในทะเลที่มีน้ำลึกเกินสองร้อยเมตร ให้คืนพื้นที่ร้อยละสามสิบห้าของพื้นที่แปลงสำรวจแปลงนั้น
(2) เมื่อสิ้นระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม และระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมนั้นมิได้รับการต่อ ต้องคืนพื้นที่ทั้งหมดที่เหลือจาก (1)
(3) เมื่อสิ้นระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม และระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมนั้นได้รับการต่อ ต้องคืนพื้นที่อีกร้อยละยี่สิบห้าของพื้นที่แปลงสำรวจแปลงนั้น แต่ถ้าเป็นแปลงสำรวจที่กรมทรัพยากรธรณีกำหนดว่าเป็นแปลงสำรวจในทะเลที่มีน้ำลึกเกินสองร้อยเมตร ให้คืนพื้นที่อีกร้อยละสี่สิบของพื้นที่แปลงสำรวจแปลงนั้น
(4) เมื่อสิ้นระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมที่ได้รับการต่อ ต้องคืนพื้นที่ที่เหลือทั้งหมด
เพื่อประโยชน์ในการคำนวณพื้นที่ที่ต้องคืนตามมาตรานี้ให้หักพื้นที่ผลิตออกจากพื้นที่แปลงสำรวจแปลงนั้นก่อน และการคืนพื้นที่ตามมาตรานี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กรมทรัพยากรธรณีกำหนด
ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานไม่ปฏิบัติการให้ถูกต้องตามวรรคหนึ่ง ให้กรมทรัพยากรธรณีกำหนดพื้นที่ที่ต้องคืนแทนผู้รับสัมปทาน และเมื่อได้แจ้งให้ผู้รับสัมปทานทราบแล้ว ให้ถือว่าพื้นที่ที่กำหนดนั้นเป็นพื้นที่ที่คืนตามมาตรานี้”
มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 50 นอกจากกรณีตามมาตรา 48 ผู้รับสัมปทานอาจโอนสัมปทานทั้งหมดหรือเฉพาะที่เกี่ยวกับแปลงสำรวจแปลงใดแปลงหนึ่ง พื้นที่ผลิต หรือพื้นที่ที่สงวนไว้เขตใดเขตหนึ่งให้แก่บริษัทอื่นได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี
ผู้รับโอนสัมปทานตามวรรคหนึ่งต้องมีลักษณะตามมาตรา 24 และจำนวนและพื้นที่แปลงสำรวจที่ผู้รับโอนสัมปทานมีอยู่แล้วและที่จะรับโอนต้องไม่เกินที่กำหนดไว้ในมาตรา 28”
มาตรา 7 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสอง ของมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514
“สำหรับปิโตรเลียมที่ผลิตได้จากพื้นที่ผลิตในแปลงสำรวจที่กรมทรัพยากรธรณีกำหนดว่าเป็นแปลงสำรวจในทะเลที่มีน้ำลึกเกินสองร้อยเมตร ในกรณีที่เสียเป็นตัวเงิน ให้ผู้รับสัมปทานเสียค่าภาคหลวงในอัตราร้อยละแปดเศษสามส่วนสี่ของมูลค่าปิโตรเลียมที่ขายหรือจำหน่าย หรือในกรณีที่เสียเป็นปิโตรเลียม ให้เสียเป็นปริมาณที่มีมูลค่าเท่ากับเจ็ดในเจ็ดสิบสามส่วนของมูลค่าปิโตรเลียมที่ขายหรือจำหน่าย แต่ถ้าเป็นกรณีน้ำมันดิบที่ส่งออกให้เสียเป็นปริมาณที่มีมูลค่าเท่ากับเจ็ดในเจ็ดสิบสามส่วนของปริมาณน้ำมันดิบที่ส่งออกคูณด้วยราคาประกาศและหารด้วยราคามาตรฐานตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียม”
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
สัญญา ธรรมศักดิ์
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากรัฐบาลได้พิจารณาเห็นสมควรส่งเสริมให้มีการสำรวจปิโตรเลียมในทะเลที่มีน้ำลึกเกินสองร้อยเมตร แต่การสำรวจในบริเวณดังกล่าวต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าการสำรวจบนบกหรือในทะเลที่มีน้ำลึกไม่เกินสองร้อยเมตรเป็นจำนวนมาก และในการนี้ผู้ขอสัมปทานจำเป็นจะต้องได้รับสัมปทานให้ดำเนินการในแปลงสำรวจที่มีพื้นที่กว้างใหญ่พอสมควรจึงจะคุ้มกับการเสี่ยงในการลงทุนสำรวจ แต่พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 มีบทบัญญัติจำกัดมิให้ผู้ขอสัมปทานได้รับสัมปทานเกินห้าแปลงสำรวจ หรือมีพื้นที่รวมกันเกินห้าหมื่นตารางกิโลเมตร ทำให้ผู้ซึ่งได้รับสัมปทานแล้วอาจหมดสิทธิที่จะเข้าประมูลแข่งขันกันเพื่อขอรับสัมปทานสำหรับแปลงสำรวจในทะเลที่มีน้ำลึกเกินสองร้อยเมตรโดยปริยาย สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวโดยมิให้ใช้บทบัญญัติจำกัดเช่นนั้นแก่ผู้ขอสัมปทานสำหรับแปลงสำรวจในทะเลที่มีน้ำลึกเกินสองร้อยเมตร และลดอัตราส่วนของพื้นที่แปลงสำรวจที่ต้องคืนเมื่อครบห้าปีแรกนับแต่วันได้รับสัมปทานให้น้อยลงเพื่อให้ผู้รับสัมปทานมีพื้นที่แปลงสำรวจเหลือมากขึ้นสำหรับสำรวจเพิ่มเติมในระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมช่วงต่อไป และลดค่าภาคหลวงให้อีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันขอสัมปทานอย่างกว้างขวางและเป็นการจูงใจให้มีผู้ขอสัมปทานดำเนินการสำรวจในบริเวณดังกล่าวมากขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้น
ภคินี/แก้ไข
31/1/2545
A+B (C)
ปัญญา/แก้ไข
30 กรกฎาคม 2552