คำอธิบายสรุปสาระสำคัญ
พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
โดยที่รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมให้มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการปิโตรเลียม ซึ่งในช่วงแรกได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ต่อมาจึงให้มีการตราพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ขึ้นเป็นฉบับแรกเพื่อใช้เป็นการเฉพาะ
สาระสำคัญ
ผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และการออกกฎกระทรวง คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
หมวดที่ ๑ บททั่วไป
เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับคำนิยาม ขอบเขตอำนาจของพระราชบัญญัติฉบับนี้ และกำหนดอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ว่ามีหน้าที่อย่างไรบ้าง เช่น การรับส่งหนังสือ และความรับผิดชอบตามกฎหมาย
หมวดที่ ๒ คณะกรรมการปิโตรเลียม
บัญญัติเกี่ยวกับองค์ประกอบ คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ การวินิจฉัยชี้ขาดวาระ การดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่ง รวมถึงองค์ประชุมของคณะกรรมการปิโตรเลียม
หมวดที่ ๓ การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
๑. บัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
๒. กำหนดขั้นตอนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
๓. กำหนดคุณสมบัติของผู้รับสัมปทาน และผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตในหมวด ๓/๑ และผู้รับสัญญาจ้างบริการในหมวด ๓/๒
๔. กำหนดระยะเวลาสำรวจ ระยะเวลาการผลิต จำนวนพื้นที่แปลงสำรวจ ข้อผูกพันการสำรวจ ช่วงผูกพันพันธะหน้าที่เมื่อปฏิบัติไม่ครบข้อผูกพัน การขอต่อระยะเวลา การโอนข้อผูกพัน พันธะเมื่อเพิกถอนสัมปทาน การคืนพื้นที่ และการสงวนพื้นที่สำหรับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
๕. กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ร่วมประกอบกิจการปิโตรเลียม
๖. กำหนดคุณสมบัติของผู้รับโอน โดยผู้โอนและผู้รับโอนต้องรับผิดร่วมกันและแทนกัน
๗. การประกอบกิจการปิโตรเลียมด้วยความเสี่ยงภัยฝ่ายเดียว
๘. กำหนดเหตุแห่งการเพิกถอนสัมปทาน และสัญญา และเหตุที่ขอแก้ไขการเพิกถอน
๙. ข้อพิพาทที่เกี่ยวกับปัญหาที่ว่าได้มีการปฏิบัติตามสัมปทานหรือสัญญาหรือไม่ ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ ให้ดำเนินการระงับโดยอนุญาโตตุลาการตามที่กำหนดไว้
หมวด ๔ การเก็บรักษาและขนส่งปิโตรเลียม
๑. บัญญัติให้ผู้รับสัมปทานและผู้รับสัญญามีสิทธิเก็บรักษาและขนส่งปิโตรเลียม
๒. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้รับสัมปทาน ผู้รับสัญญา มีอำนาจผ่านหรือเข้าไปในที่ดินหรือสถานที่ ของบุคคลใดเพื่อตรวจในกรณีจำเป็นเพื่อป้องกันอันตรายเป็นการด่วน
หมวด ๕ การขายและจำหน่ายปิโตรเลียม
กำหนดให้ผู้รับสัมปทานมีสิทธิขายและจำหน่ายปิโตรเลียมที่ผู้รับสัมปทานผลิตได้ การกำหนดราคา และการประกาศห้ามส่งออก
หมวด ๖ ประโยชน์ สิทธิ และหน้าที่ของผู้รับสัมปทาน
๑. บัญญัติว่าการให้สัมปทานไม่ตัดสิทธิการให้สัมปทานหรือการอนุญาตตามกฎหมายอื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติอื่นยกเว้นปิโตรเลียม
๒. กำหนดว่ารัฐจะไม่บังคับโอนทรัพย์สินและสิทธิในการประกอบกิจการปิโตรเลียมของผู้รับสัมปทานและผู้รับสัญญามาเป็นของรัฐ เว้นแต่เป็นการโอนตามข้อกำหนดในสัมปทาน และรัฐจะไม่จำกัดการส่งปิโตรเลียมออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศ หรือเพื่อให้มีปิโตรเลียมเพียงพอกับความต้องการใช้ในราชอาณาจักร
๓. กำหนดให้คณะกรรมการอนุญาตให้ผู้รับสัมปทานถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเท่าที่จำเป็น
๔. กำหนดให้ผู้รับสัมปทานและผู้รับสัญญามีสิทธิประกอบกิจการในแปลงสำรวจและพื้นที่ผลิตที่ได้สัมปทาน หรือการเข้าไปในที่ดินที่ตามพระราชบัญญัตินี้กำหนด
๕. ผู้รับสัมปทานและผู้รับสัญญา รวมถึงผู้รับจ้างซึ่งได้ทำสัญญาจ้างเหมาโดยตรงกับผู้รับสัมปทานมีสิทธิ นำช่างฝีมือและผู้เชี่ยวชาญ รวมตลอดถึงคู่สมรสและบุตรที่อยู่ในอุปการะซึ่งเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรตามความจำเป็นในการประกอบกิจการปิโตรเลียม
๖. ผู้รับสัมปทานและผู้รับสัญญา รวมถึงผู้รับจ้างซึ่งได้ทำสัญญาจ้างเหมาโดยตรงกับผู้รับสัมปทานมีสิทธินำเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องใช้ โครงก่อสร้าง ยานพาหนะ ส่วนประกอบอุปกรณ์ และวัสดุอื่น ๆ ที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมเข้ามาในราชอาณาจักรได้โดยให้ได้รับยกเว้นการเสียภาษีอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรและภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร แต่ของดังกล่าวต้องเป็นของที่คณะกรรมการ มีคำสั่งเห็นชอบว่าจำเป็นในการประกอบกิจการปิโตรเลียม
๗. บัญญัติให้ผู้รับสัมปทานและผู้รับสัญญาได้รับยกเว้นการเสียภาษีอากรและเงินที่ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่นเรียกเก็บทุกชนิด เว้นแต่เงินที่จะต้องชำระตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้
๘. การสั่งให้ผลิตปิโตรเลียมร่วมกัน
๙. การรายงานผลประกอบกิจการปิโตรเลียม
๑๐. การปฏิบัติงานปิโตรเลียมที่ดี
๑๑. ในการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียม ถ้าพบโบราณวัตถุ ซากดึกดำบรรพ์ หรือแร่ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ หรือทางการศึกษาในด้านธรณีวิทยา ผู้รับสัมปทานและผู้รับสัญญาต้องรายงานให้กรมฯ ทราบภายในสามสิบวัน นับแต่วันพบ
๑๒. ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมในทะเลผู้รับสัมปทานและผู้รับสัญญาต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือน โดยปราศจากเหตุอันสมควรต่อการเดินเรือ การเดินอากาศ การอนุรักษ์ทรัพยากรมีชีวิตในทะเล หรือการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และต้องไม่ทำการอันเป็นการกีดขวางต่อสายเคเบิ้ล ท่อใต้น้ำ หรือทำให้เกิดความเสียหาย รวมถึงมีมาตรการอันเหมาะสมตามวิธีการปฏิบัติงานปิโตรเลียมที่ดี เพื่อมิให้ที่ใดโสโครกด้วยน้ำมัน โคลน หรือสิ่งอื่นใด
๑๓. ผู้รับสัมปทานและผู้รับสัญญาต้องรายงานผลการประกอบกิจการปิโตรเลียม รวมถึงต้องเสนองบบัญชีค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการปิโตรเลียม ต่อกรมฯ
หมวด ๗. ค่าภาคหลวง
กำหนดให้ผู้รับสัมปทานและผู้รับสัญญา เสียค่าภาคหลวงสำหรับปิโตรเลียมที่ขายหรือจำหน่าย แต่มีข้อยกเว้นไม่ต้องเสียค่าภาคหลวงตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ อาจเสียเป็นตัวเงินหรือเป็นปิโตรเลียมก็ได้
หมวด ๗ ทวิ ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ
กำหนดคำนิยามดังนี้
- รายได้ปิโตรเลียม หมายความถึง ยอดเงินได้จากการขายปิโตรเลียม มูลค่าของปิโตรเลียมที่จำหน่าย มูลค่าของปิโตรเลียมที่ส่งชำระเป็นค่าภาคหลวง และยอดเงินได้เนื่องจากการโอนทรัพย์สินหรือสิทธิใด ๆ อันเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียม
- รายจ่ายปิโตรเลียมที่เป็นทุน ได้แก่ รายจ่ายที่เป็นทุนตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
- รายจ่ายปิโตรเลียมตามปกติและจำเป็น ได้แก่ รายจ่ายตามปกติและจำเป็นว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียม แต่ไม่รวมถึงค่าชดเชยรายจ่ายที่เป็นทุนและเงินที่ชำระเป็นผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ
- ค่าลดหย่อนพิเศษ ได้แก่ จำนวนเงินที่รัฐบาลกำหนดขึ้นเป็นครั้งคราวในขณะที่ให้สัมปทาน ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง เงินจำนวนนี้ รัฐบาลยินยอมให้ผู้รับสัมปทานมีสิทธินำมาคำนวณรวมกับรายจ่ายในลักษณะที่เสมือนเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนของแปลงสำรวจแต่ละแปลง เพื่อนำมาหักออกจากรายได้ปิโตรเลียมอันจะเป็นการลดผลกำไรของผู้รับสัมปทานในการเสียผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษให้แก่รัฐบาลตามหมวดนี้
หมวด ๘ บทกำหนดโทษ
บัญญัติขึ้นเพื่อลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนตามที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้
ปรับปรุงวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๔