ประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice : CoP)
สำหรับผู้ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจบนบกที่มีพื้นที่ผลิตปิโตรเลียม
ซึ่งยังผลิตได้อย่างต่อเนื่องหลังสิ้นอายุสัมปทาน พ.ศ. 2563
๑. บทนำ
ประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice : CoP) ฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ได้รับสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในแปลงสำรวจบนบกที่มีพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมซึ่งยังผลิตได้อย่างต่อเนื่องหลังสิ้นอายุสัมปทาน และเป็นแปลงสำรวจที่กำหนดให้มีการใช้สิ่งติดตั้งที่รับมอบจากรัฐเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการผลิตปิโตรเลียมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นแปลงสำรวจที่มีรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment Report : EIA) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑ มาก่อน ให้ปฏิบัติตามมาตรการได้อย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน
๒. คำจำกัดความ
ผู้ได้รับสิทธิ หมายความว่า ผู้ได้รับสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรายใหม่ภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในแปลงสำรวจบนบกที่มีพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมซึ่งยังผลิตได้อย่างต่อเนื่องหลังสิ้นอายุสัมปทาน และเป็นแปลงสำรวจที่กำหนดให้มีการใช้สิ่งติดตั้งที่รับมอบจากรัฐเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการผลิตปิโตรเลียมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
สิ่งติดตั้ง หมายความว่า ฐานหลุมผลิต สถานีผลิต หรือจุดเผาก๊าซ สิ่งปลูกสร้าง และอุปกรณ์อื่นใดบนบกที่จำเป็นในการผลิต เก็บรักษา หรือขนส่งปิโตรเลียม ที่ผู้ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้รับมอบจากรัฐให้นำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจบนบกนั้น
เปลี่ยนแปลง หมายความว่า การเพิ่ม กำลังการผลิต จำนวนฐานหลุมผลิต จำนวนหลุมผลิต จำนวนท่อขนส่ง ขนาดพื้นที่ฐาน รวมถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตหรือการขนส่ง ตลอดจนการกระทำอื่นใดที่ส่งผลให้สิ่งติดตั้งที่ได้รับมอบจากรัฐมีสภาพ สถานะ หรือวิธีการผลิต รวมถึงมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม แตกต่างไปจากรายละเอียดในการดำเนินกิจกรรมตามที่ระบุไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการที่ได้รับความเห็นชอบมาก่อน
กำลังการผลิต หมายความว่า อัตราสูงสุดที่ระบบการผลิตจะสามารถรองรับได้และเป็นอัตราการผลิตที่ไม่เกินกว่าที่ระบุไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
อธิบดี หมายความว่า อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
๓. โครงการที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามประมวลหลักปฏิบัติ (Code of Practice)
โครงการผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจบนบกที่มีพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมซึ่งยังผลิตได้อย่างต่อเนื่องหลังสิ้นอายุสัมปทาน และเป็นแปลงสำรวจที่กำหนดให้มีการใช้สิ่งติดตั้งที่รับมอบจากรัฐเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการผลิต ปิโตรเลียมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นแปลงสำรวจที่มีรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) มาก่อน
๔. กลไกการบังคับใช้
๔.๑ ผู้ได้รับสิทธิ จะต้องใช้สิ่งติดตั้งของรัฐที่มีอยู่ในแปลงสำรวจที่ได้รับสิทธิ เพื่อประโยชน์ในการผลิตปิโตรเลียมให้เกิดความต่อเนื่อง ภายใต้เงื่อนไขที่ใช้ฐานหลุมผลิตเดิม จำนวนหลุมผลิตตามที่ระบุไว้ในโครงการเดิม ขนาดพื้นที่เท่าเดิม และอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบจากรัฐ โดยผู้ได้รับสิทธิจะต้องจัดทำและเสนอ รายงานการปฏิบัติตามประมวลหลักการปฏิบัติ (CoP) สำหรับโครงการผลิตปิโตรเลียม ต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเพื่อขอรับความเห็นชอบ ที่ไม่น้อยกว่าข้อมูลที่ได้เคยมีการนำเสนอไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงาน ฯ ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมนั้น รวมถึงให้สอดคล้องกับประมวลหลักการปฏิบัติ (CoP) นี้ โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอาจสั่งให้ผู้ได้รับสิทธิเพิ่มเติมมาตรการ ฯ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมก็ได้
๔.๒ ในระหว่างดำเนินการผลิตปิโตรเลียม หากผู้ได้รับสิทธิประสงค์เปลี่ยนแปลงรายละเอียดในรายงานการปฏิบัติตามประมวลหลักการปฏิบัติ ตามข้อ ๔.๑ ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
๑) การเพิ่มมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อความครบถ้วนในการปฏิบัติตามรายงานการปฏิบัติตามประมวลหลักการปฏิบัติตามข้อ ๔.๑ ให้แจ้งเป็นหนังสือต่ออธิบดีเพื่อขอรับความเห็นชอบ และเมื่อได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีแล้ว ให้ถือว่าการเปลี่ยนแปลงข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของรายงานการปฏิบัติตามประมวลหลักการปฏิบัติ ที่ต้องปฏิบัติด้วย
๒) การเปลี่ยนแปลงมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลกระทบต่อความครบถ้วนในการปฏิบัติตามรายงานการปฏิบัติตามประมวลหลักการปฏิบัติ ผู้ได้รับสิทธิต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ตามกระบวนการทางกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมก่อน จึงสามารถดำเนินการได้ และเมื่อรายงานการประเมิน ผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว ให้ถือว่ารายงานการปฏิบัติตามประมวลหลักการปฏิบัติ ที่เคยได้รับความเห็นชอบตามข้อ ๔.๑ สิ้นผลไปด้วย
๓) การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดการดำเนินการผลิตปิโตรเลียมในฐานหลุมผลิต ฐานผลิต หรือสถานีผลิตแห่งใดแห่งหนึ่งตามที่ระบุไว้ในรายงานการปฏิบัติตามประมวลหลักการปฏิบัติที่ได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีไว้แล้ว ผู้ได้รับสิทธิต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่เฉพาะฐานหรือสถานีผลิตที่เปลี่ยนแปลงตามกระบวนการทางกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมก่อน จึงสามารถดำเนินการได้ และเมื่อรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว ให้ถือว่ารายงานการปฏิบัติตามประมวลหลักการปฏิบัติเฉพาะฐานหรือสถานที่ผลิตที่เปลี่ยนแปลง ที่เคยได้รับความเห็นชอบตามข้อ ๔.๑ สิ้นผลไปด้วย
๔) การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดการดำเนินกิจกรรมใด ๆ เนื่องจากข้อร้องเรียนซึ่งส่งผลให้กิจกรรมต่าง ๆ แตกต่างไปจากที่ระบุไว้ในรายงานการปฏิบัติตามประมวลหลักการปฏิบัติที่ได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีไว้แล้ว ให้ผู้ได้รับสิทธิแจ้งเป็นหนังสือเสนอต่ออธิบดีเพื่อขอรับความเห็นชอบ และเมื่อได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีแล้ว จึงสามารถดำเนินการได้
๕) ในกรณีเกิดเหตุอันตรายต่อชีวิตหรือทรัพย์สิน เพื่อป้องกันการสูญเสียหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ผู้ได้รับสิทธิสามารถดำเนินการแตกต่างจากที่ระบุในรายงานการปฏิบัติตามประมวลหลักการปฏิบัติได้เท่าที่จำเป็นไปพลางก่อน แต่ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้อธิบดีทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่เกิดหรือทราบถึงเหตุ และรายงานการดำเนินการที่แตกต่างไปจากรายงานการปฏิบัติตามประมวลหลักการปฏิบัติ ซึ่งเกิดขึ้นจากเหตุดังกล่าวด้วย
๔.๓ เพื่อประโยชน์ในการรักษาสิ่งแวดล้อมและป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดต่อสิ่งแวดล้อม อธิบดีอาจสั่งให้ผู้ได้รับสิทธิจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อขอรับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมก็ได้ อย่างไรก็ตามในกรณีดังกล่าวให้ผู้ได้รับสิทธิ ดำเนินกิจกรรมการผลิตให้เป็นไปตามรายงานการปฏิบัติตามประมวลหลักการปฏิบัติ (CoP) สำหรับโครงการผลิตปิโตรเลียมที่เคยได้รับความเห็นชอบตามข้อ ๔.๑ โดยอนุโลม จนกว่ารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ฉบับใหม่จะได้รับความเห็นชอบ
๕. มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ผู้ได้รับสิทธิ จะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่ระบุไว้ใน รายงานการปฏิบัติตามประมวลหลักการปฏิบัติ (CoP) สำหรับโครงการผลิตปิโตรเลียม สำหรับพื้นที่ผลิตในแปลงสำรวจบนบกที่ได้รับสิทธินั้นตามที่ได้รับความเห็นชอบไว้จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
๖. การจัดทำรายงานการปฏิบัติตามประมวลหลักการปฏิบัติ (CoP)
รายงานการปฏิบัติตามประมวลหลักการปฏิบัติ (CoP) สำหรับโครงการผลิตปิโตรเลียมประกอบไปด้วยข้อมูลอย่างน้อย ดังนี้
๖.๑ บทสรุปผู้บริหาร
๖.๒ ประวัติและความเป็นมาของโครงการ
๖.๓ ข้อมูลรายละเอียดโครงการ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย ที่ตั้งโครงการ สถานะปัจจุบันของสิ่งติดตั้งที่รับมอบจากรัฐ วิธีการดำเนินการ และขั้นตอนการจัดการข้อร้องเรียน เป็นต้น
๖.๔ แผนการดำเนินงานของโครงการ
๖.๕ มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่สอดคล้องกับข้อมูลที่นำเสนอไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ ฯ สำหรับพื้นที่ผลิตที่เคยมีการผลิตนั้นมาก่อนตามที่เคยได้รับความเห็นชอบจาก คชก.
ส่วนที่ ๑ มาตรการทั่วไป
๑) ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมในรายงานประมวลหลักการปฏิบัติ (CoP) สำหรับโครงการผลิตปิโตรเลียม เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำกับ ควบคุม ติดตาม และตรวจสอบของหน่วยงานราชการ ที่เกี่ยวข้อง ประชาชน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง
๒) ให้รายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดใน “รายงานการปฏิบัติตามประมวลหลักการปฏิบัติ (CoP) สำหรับโครงการผลิตปิโตรเลียม” ต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเพื่อพิจารณาทุกหนึ่งปี โดยนำส่งรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม ของปีนั้น ๆ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป ในกรณีที่ไม่สามารถนำส่งผลการปฏิบัติตามมาตรการฯ ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้มีหนังสือแจ้งเหตุผลความจำเป็นมายังกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อขอขยายระยะเวลา ทั้งนี้ สามารถขอขยายได้ไม่เกิน ๓๐ วัน พร้อมทั้งสำเนารายงานนั้น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอันเป็นที่ตั้งของโครงการทราบด้วย
๓) จัดให้มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียนของประชาชนที่เกิดจากการดำเนินโครงการ โดยผู้ได้รับสิทธิจะต้องตรวจสอบและชี้แจงเบื้องต้นกับผู้ร้องเรียนโดยเร็วที่สุด และแจ้งให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติทราบ พร้อมทั้งดำเนินการแก้ไขเหตุแห่งความเดือดร้อน และให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นธรรม
ส่วนที่ ๒ มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะผลิตปิโตรเลียม
ในการผลิตปิโตรเลียม ผู้ได้รับสิทธิต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ คุณค่า การใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต โดยมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ต้องสอดคล้องกับมาตรการที่นำเสนอไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานฯ ที่เกี่ยวข้อง ที่ได้รับความเห็นชอบจาก คชก. มาก่อน รวมถึงต้องเป็นไปตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนี้
๑) ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ
๑.๑) มาตรการด้านคุณภาพอากาศ
- จัดให้มีรถบรรทุกน้ำ ฉีดพรมน้ำบริเวณถนนดินหรือถนนลูกรังที่เป็นเส้นทางขนส่งของโครงการ เพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง หรือหากมีการร้องเรียนจากประชาชนหรือชุมชน ให้พิจารณาเพิ่มการฉีดพรมน้ำตามความเหมาะสม
- จัดให้มีรถบรรทุกน้ำ ฉีดพรมน้ำบริเวณถนนดินหรือถนนลูกรังที่เป็นเส้นทางขนส่งของโครงการ เพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง หรือหากมีการร้องเรียนจากประชาชนหรือชุมชน ให้พิจารณาเพิ่มการฉีดพรมน้ำตามความเหมาะสม
- จำกัดความเร็วของยานพาหนะบนเส้นทางขนส่งของโครงการโดยเฉพาะที่ผ่านชุมชน
- ติดตั้งแผ่นบังโคลนทุกล้อของยานพาหนะที่ใช้ขนส่ง
- ต้องจัดให้มีการป้องกันการฟุ้งกระจายและการหล่นของวัสดุจากการขนส่งที่มีการบรรทุกวัสดุต่าง ๆ เช่น ดิน ทราย ลูกรัง เป็นต้น
- ตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องจักร ยานพาหนะ อุปกรณ์การผลิตต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณข้อต่อ วาล์ว รอยเชื่อมต่าง ๆ ซึ่งอาจเกิดการรั่วไหลของไอระเหยไฮโดรคาร์บอนออกจากระบบ
- ให้ติดตั้งอุปกรณ์เพื่อดักอนุภาคฝุ่นละอองและควันที่เกิดขึ้น หรือเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ เช่น สเปรย์ละอองน้ำหรือเครื่องเติมอากาศบริเวณปล่องเผาก๊าซ
- ตรวจสอบการทำงานของระบบเผาก๊าซ (Flare) ให้มีประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอ
- จัดให้มีอุปกรณ์ตรวจสอบการรั่วไหลของก๊าซประจำสถานีผลิตและฐานผลิตตามความเหมาะสม
- จัดให้มีโครงการลดหรือการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเหมาะสม
๑.๒) มาตรการด้านเสียง
- ดูแลรักษาเครื่องจักร/เครื่องยนต์ที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมให้อยู่ในสภาพที่ดีพร้อมใช้งานและมีการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ
๑.๓) มาตรการด้านคุณภาพดิน น้ำผิวดิน และน้ำใต้ดิน
- จัดให้มีการบำบัดน้ำเสียจากห้องสุขา ด้วยระบบบ่อเกรอะภายในฐานหลุมผลิต
- อุปกรณ์การผลิตทั้งหมดรวมถึงท่อทุกเส้นต้องได้รับการตรวจสอบและบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพดี ทำงานได้อย่างปกติ
- จัดแบ่งบริเวณพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดการปนเปื้อนและไม่ปนเปื้อนออกจากกัน โดยในบริเวณที่มีโอกาสปนเปื้อนจะต้องปูด้วยพื้นคอนกรีต และมีรางระบายน้ำล้อมรอบ เพื่อรวบรวมไปสู่บ่อกักเก็บและ/หรือบำบัด หรือวางบนวัสดุกันซึม
- การใช้งานเกี่ยวกับสารเคมีต่าง ๆ ในการผลิต (ถ้ามี) ต้องวางอยู่บนลานคอนกรีตที่มีคันกั้น หรือรางระบายน้ำล้อมรอบหรือมีวัสดุกันซึมเสมอ เพื่อป้องกันการแพร่กระจาย และการซึมผ่านลงสู่ใต้ดินกรณีเกิดการรั่วไหล
- อุปกรณ์การผลิตต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนน้ำมันต้องติดตั้งบนพื้นคอนกรีตบริเวณพื้นที่ฐาน ซึ่งมีรางระบายน้ำหรือคันกั้นล้อมรอบ
- ใช้ถาดรองน้ำมันเมื่อซ่อมบำรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการผลิต หรือซ่อมบำรุงบนพื้นคอนกรีต
- ห้ามระบายน้ำฝนที่ปนเปื้อนน้ำมันหรือสารเคมีจากบริเวณพื้นที่ที่มีการดาดคอนกรีตออกนอกพื้นที่โครงการฯ
- ห้ามพนักงานล้างและทำความสะอาดเครื่องมือและเครื่องจักรในแหล่งน้ำสาธารณะ
- ห้ามระบายหรือทิ้งของเสีย สารเคมี น้ำมัน น้ำปนเปื้อนน้ำมัน ลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ
- ตรวจสอบและบำรุงรักษารางระบายน้ำ และบ่อคอนกรีตกักเก็บน้ำภายในพื้นที่ฐาน ให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ และตรวจระดับน้ำในบ่อคอนกรีตที่ใช้กักเก็บน้ำฝนหรือน้ำปนเปื้อนน้ำมัน หากระดับน้ำสูงขึ้น 3 ใน 4 ของระดับกักเก็บ ต้องจัดหารถสูบน้ำกลับไปกำจัดอย่างเหมาะสม
- กรณีเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบหรือสารเคมีหกรั่วไหลจะต้องรีบทำความสะอาดทันทีตามขั้นตอนการตอบสนองและแผนฉุกเฉิน โดยต้องมีเครื่องมือ/อุปกรณ์ในการขจัดคราบน้ำมัน ประจำอยู่ที่ฐานหลุมผลิต และสถานีผลิตตลอดเวลา
๒) ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ
๒.๑) ทรัพยากรสัตว์ป่า
- มีการชี้แจงและควบคุมพนักงานของโครงการ และพนักงานผู้รับเหมา ห้ามจับสัตว์ป่าบริเวณพื้นที่โครงการ และพื้นที่โดยรอบ
- ดูแลและบำรุงรักษาเครื่องยนต์และเครื่องจักร ตามแผนการซ่อมบำรุง หรือแผนการตรวจสอบและบำรุงรักษาเชิงป้องกันที่จัดเตรียมไว้
- เครื่องจักรกลที่มีเสียงดัง ต้องทำการแก้ไขซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ดี เช่น หมั่นหยอดน้ำมันหล่อลื่น
- ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบเรื่องอากาศ เสียง ทรัพยากรดิน และ น้ำผิวดิน อย่างเคร่งครัด
๒.๒) นิเวศวิทยาทางน้ำ
- ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบเรื่องคุณภาพน้ำผิวดินอย่างเคร่งครัด
- มีการชี้แจงและควบคุมพนักงานของโครงการ และพนักงานผู้รับเหมา ห้ามจับสัตว์น้ำบริเวณแหล่งน้ำในพื้นที่โครงการ
๓) คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์
๓.๑) การคมนาคม
- ควบคุมผู้รับเหมาให้ปฏิบัติตามกฎหมาย และมาตรฐานฉบับปัจจุบันที่เกี่ยวข้อง
- จำกัดความเร็วรถที่สัญจรบนถนนลูกรัง ทางเข้าพื้นที่ฐาน และขณะขับผ่านพื้นที่ชุมชนเพื่อลดอุบัติเหตุจากการจราจร
- หลีกเลี่ยงการขนส่งในช่วงเวลาที่เป็นชั่วโมงเร่งด่วน หากมีความจำเป็นที่ต้องขนส่งเกินเวลาต้องมีการแจ้งให้ชุมชนทราบก่อน
- ควบคุมน้ำหนักรถบรรทุก มิให้บรรทุกน้ำหนักเกินข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบก เพื่อลดความเสียหายของผิวจราจรและโครงสร้างของถนน
- จัดให้มีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกด้านการจราจรอยู่ประจำบริเวณทางร่วม ทางแยก หรือปากทาง เข้า-ออกพื้นที่ฐานหลุมผลิตที่เชื่อมกับถนนสาธารณะ เพื่อให้สัญญาณควบคุมการจราจร ในช่วงที่รถบรรทุกลำเลียงอุปกรณ์การผลิตผ่านถนนทางเข้า-ออกฐาน
- รถบรรทุกน้ำมัน ต้องได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกให้เป็นรถขนส่งเชื้อเพลิงโดยเฉพาะ และต้องติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัย หรืออุปกรณ์ป้องกันเหตุฉุกเฉินพื้นฐาน ตามกฎหมายรวมถึงมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- ติดตั้งอุปกรณ์ระบุตำแหน่งด้วยดาวเทียมที่รถบรรทุกน้ำมันทุกคัน เพื่อติดตามความเร็วรถ และเส้นทางการขนส่ง
- การขนส่งน้ำมันดิบด้วยรถบรรทุกน้ำมัน ต้องควบคุมผู้รับเหมาให้ปฏิบัติตามมาตรการ ดังนี้
ควบคุมความเร็วเมื่อวิ่งบนถนนทางหลวงสายหลัก และถนนลูกรัง
เปิดไฟหน้ารถตลอดเวลาขณะขนส่ง
การขนส่งน้ำมันดิบหากมีรถบรรทุกตั้งแต่ ๒ คัน ให้วิ่งชิดซ้ายและเว้นระยะแซงสำหรับรถในชุมชนให้เหมาะสม
หลีกเลี่ยงการขนส่งในช่วงเวลาที่เป็นชั่วโมงเร่งด่วน หากมีความจำเป็นที่ต้องขนส่งเกินเวลาต้องมีการแจ้งให้ชุมชนทราบก่อน
พนักงานขับรถบรรทุกน้ำมันดิบทุกคนต้องได้รับการอบรมก่อนที่จะมีการปฏิบัติงานภายในโครงการ และมีการทบทวนอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง และจัดให้มีการประชุมหารือกับผู้รับเหมาทางด้านความปลอดภัยและการทำงานเป็นประจำทุกเดือน
จัดทำและดูแลรักษาป้ายสัญลักษณ์ ป้ายเตือนต่างๆ หรือสัญญาณไฟให้เห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะบริเวณทางร่วม/ทางแยก/จุดอับและปากทางเข้า-ออกฐานเพื่อให้ผู้ใช้เส้นทางทราบ
๔) คุณค่าต่อคุณภาพชีวิต
๔.๑) เศรษฐกิจ-สังคม
- กรณีที่โครงการต้องการแรงงานที่ไม่ต้องการความชำนาญพิเศษ เช่น เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกด้านการจราจร ฯลฯ ให้พิจารณาคัดเลือกแรงงานท้องถิ่นเข้าทำงานก่อน
- พิจารณาให้ผู้รับเหมา/พนักงาน สนับสนุนสินค้าอุปโภค-บริโภค และผลิตภัณฑ์ที่หาได้ในท้องถิ่นตามความเหมาะสม
- จัดให้มีการอบรม ชี้แจงระเบียบปฏิบัติงานในพื้นที่โครงการฯ แก่ผู้รับเหมา ผู้รับเหมาช่วง และผู้ปฏิบัติงานทราบก่อนเริ่มการปฏิบัติงาน
๔.๒) อาชีวอนามัยและความปลอดภัย
- ควบคุมพนักงานและผู้รับเหมาให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- ติดตั้งและดูแลป้ายสัญลักษณ์ และป้ายเตือนต่างๆ ในบริเวณที่อาจเกิดอันตราย
- อุปกรณ์การผลิตทั้งหมดรวมถึงท่อทุกเส้นต้องได้รับการตรวจสอบและบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพดี ทำงานได้อย่างปกติ
- จัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัย และแผนการจัดการเหตุฉุกเฉินต่างๆ เช่น การรั่วไหล ฯลฯ พร้อมทั้งจัดให้มีการฝึกซ้อมตามแผน
- ปฏิบัติตามแผนการจัดการของเสีย
- กำหนดระยะเวลาการทำงานของพนักงาน ในบริเวณที่มีเสียงดังตามที่กฎหมายกำหนด และควบคุมให้พนักงานสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงดัง ตลอดระยะเวลาปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีเสียงดัง
- จัดที่พักอาศัยและสาธารณูปโภคของพนักงานให้ถูกสุขลักษณะและมีระบบการจัดการสุขภาพอนามัยและสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมให้เพียงพอกับจำนวนพนักงาน
- การจัดบริการด้านสาธารณสุขให้เพียงพอและเหมาะสม สำหรับพนักงานของโครงการ
- จัดให้มีอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลอย่างเพียงพอและเหมาะสม
- จัดเก็บสารเคมีในภาชนะที่ปิดมิดชิดในสถานที่เฉพาะในการจัดเก็บสารเคมีและมีอากาศถ่ายเทดี
๔.๓) สุขภาพอนามัยของประชาชน
- ดำเนินการตามมาตรการต่างๆทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบทางด้านสาธารณสุขตั้งแต่ต้น
- จำกัดความเร็วของยานพาหนะที่ใช้ในโครงการเมื่อวิ่งผ่านถนนหลัก ถนนลูกรัง และพื้นที่ชุมชน
- จัดให้มีผ้าใบหรือวัสดุปิดคลุมส่วนบรรทุกของรถบรรทุกวัสดุต่าง ๆ เช่น ดิน ลูกรัง ทราย เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายและตกหล่น
- จัดให้มีการตรวจสอบประวัติคนงาน และตรวจสุขภาพพนักงานก่อนรับเข้าปฏิบัติงาน โดยพนักงานที่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงต้องหยุดงานจนกว่าจะหายขาด เพื่อป้องกันการแพร่สู่ชุมชน
๕) แผนรับมือกรณีเหตุการณ์ไม่ปกติ
จัดให้มีแผนปฏิบัติการฉุกเฉินกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติในกรณีต่าง ๆ โดยระบุรายละเอียด ที่สำคัญ เช่น มาตรการป้องกันและแก้ไข แนวทาง และขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อควบคุมและระงับเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น
ส่วนที่ ๓ มาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ในการผลิตปิโตรเลียม ผู้ได้รับสิทธิต้องปฏิบัติตามมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะผลิตปิโตรเลียม ที่ประกอบด้วย มาตรการด้านคุณภาพอากาศ ระดับเสียง คุณภาพน้ำผิวดิน คุณภาพน้ำใต้ดิน สภาพเศรษฐกิจ-สังคม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย และกรณีการรั่วไหลของน้ำมันดิบและสารเคมี เป็นต้น โดยมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังกล่าวต้องสอดคล้องกับมาตรการที่นำเสนอไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานฯ ที่เกี่ยวข้อง ที่ได้รับความเห็นชอบจาก คชก. มาก่อน รวมถึงให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องฉบับล่าสุด
ประกาศ ณ วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
สราวุธ แก้วตาทิพย์
อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ