ประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
เรื่อง กำหนดรายละเอียดในรายการแผนงานการรื้อถอนและประมาณการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน
อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๓ ของกฎกระทรวงกำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๕๙ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติออกประกาศกำหนดรายละเอียดในแต่ละรายการของแผนงานการรื้อถอนเบื้องต้น แผนงานการรื้อถอนโดยละเอียด และประมาณการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน ดังต่อไปนี้
หมวด ๑
ข้อกำหนดทั่วไป
ข้อ ๑ ในการจัดทำแผนงานการรื้อถอนเบื้องต้น แผนงานการรื้อถอนโดยละเอียด และประมาณการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน ให้ผู้รับสัมปทานดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักเทคนิคและวิธีการปฏิบัติงานปิโตรเลียมที่ดีสำหรับการดำเนินการรื้อถอน โดยคำนึงถึงข้อกำหนดและมาตรฐานทั่วไปด้านการรื้อถอน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และข้อกำหนดในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงอนุสัญญาและข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยให้การยอมรับ
หมวด ๒
แผนงานการรื้อถอนเบื้องต้น
ข้อ ๒ แผนงานการรื้อถอนเบื้องต้น (Initial Decommissioning Plan) ต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้
(๑) บทสรุปผู้บริหารเกี่ยวกับผู้รับสัมปทาน แหล่งผลิต สิ่งติดตั้งที่จะรื้อถอน และแนวทางการรื้อถอน
(๒) ข้อมูลทางเทคนิคที่คาดว่าจะใช้ในการรื้อถอนและขอบเขตการดำเนินการรื้อถอน
(๓) กำหนดการและระยะเวลาในการดำเนินการรื้อถอน
(๔) แผนการประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น ด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย และความปลอดภัย (Initial HSE Risk Assessment)
(๕) ข้อมูลอื่น ๆ ที่อธิบดีกำหนด
ข้อ ๓ บทสรุปผู้บริหารเกี่ยวกับผู้รับสัมปทาน แหล่งผลิต สิ่งติดตั้งที่จะรื้อถอน และแนวทางการรื้อถอน ตามข้อ ๒ (๑) ต้องมีรายละเอียดอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(๑) สรุปข้อมูลสัมปทานปิโตรเลียม การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม ปริมาณสำรองปิโตรเลียม และการผลิตปิโตรเลียมตั้งแต่เริ่มการผลิตจนถึงวันสุดท้ายของปีก่อนหน้าปีที่ผู้รับสัมปทานยื่นแผนงานการรื้อถอนเบื้องต้น
(๒) เหตุผลของการจัดทำแผนงานการรื้อถอนเบื้องต้น
(๓) สรุปรายการหลุมและสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมที่จะรื้อถอนทั้งหมด
(๔) สรุปเนื้อหาของแผนงานการรื้อถอนเบื้องต้น
(๕) สรุปแผนการผลิตช่วงสุดท้ายของแหล่งปิโตรเลียม
ข้อ ๔ ข้อมูลทางเทคนิคที่คาดว่าจะใช้ในการรื้อถอนและขอบเขตการดำเนินการรื้อถอน ตามข้อ ๒ (๒) ต้องมีรายละเอียดอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(๑) รายละเอียดของหลุมและสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมที่จะรื้อถอนทั้งหมด
(๒) วิธีการที่เลือกใช้ในการรื้อถอน ทั้งการสละหลุม และการรื้อถอนสิ่งติดตั้ง
(๓) วิธีการจัดการสิ่งติดตั้งภายหลังการรื้อถอน
(๔) รายละเอียดขอบเขตการดำเนินการรื้อถอน ประกอบด้วย การวางแผน การเตรียมความพร้อมการดำเนินการรื้อถอน การจัดการของเสีย และการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายหลังกิจกรรมการรื้อถอน
(๕) รายละเอียดทางเทคนิคในแต่ละขอบเขตการดำเนินการรื้อถอน วิธีการตาม (๒) และ (๓) และรายละเอียดทางเทคนิคตาม (๕) ข้างต้น ต้องเป็นเทคนิควิธีการที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความเป็นไปได้ทางวิศวกรรม หรือเว้นแต่อธิบดีจะสั่งเป็นอย่างอื่น
ข้อ ๕ กำหนดการและระยะเวลาในการดำเนินการรื้อถอน ตามข้อ ๒ (๓) ต้องมีรายละเอียดอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(๑) ลาดับขั้นตอนของกิจกรรมตามขอบเขตการดำเนินการรื้อถอนสิ่งติดตั้งทั้งหมด
(๒) กำหนดระยะเวลาเริ่มและสิ้นสุดการรื้อถอนแต่ละสิ่งติดตั้ง
ข้อ ๖ แผนการประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น ด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย และความปลอดภัย ตามข้อ ๒ (๔) ต้องมีรายละเอียดอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(๑) การบ่งชี้ความเสี่ยงเบื้องต้น ด้านผลกระทบต่อสุขอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามขอบเขตการดำเนินการรื้อถอน
(๒) มาตรการในการบริหารจัดการความเสี่ยงและมาตรการบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
หมวด ๓
แผนงานการรื้อถอนโดยละเอียด
ข้อ ๗ แผนงานการรื้อถอนโดยละเอียด (Final Decommissioning Plan) ต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้
(๑) บทสรุปผู้บริหารเกี่ยวกับผู้รับสัมปทาน แหล่งผลิต สิ่งติดตั้งที่จะรื้อถอน และแนวทางการรื้อถอน
(๒) รายละเอียดของสิ่งติดตั้งที่จะรื้อถอน
(๓) รายละเอียดทางเทคนิค วิธีการ และเครื่องมือและเครื่องจักรในส่วนที่มีนัยสำคัญที่ใช้ในการรื้อถอน และขอบเขตการดำเนินการรื้อถอน
(๔) กำหนดการและระยะเวลาในการดำเนินการรื้อถอน
(๕) แผนการจัดการด้านความปลอดภัย
(๖) แผนการบริหารจัดการการดำเนินงานรื้อถอน
(๗) บทสรุปรายงานการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมจากการรื้อถอน (Decommissioning Environmental Assessment Report หรือ DEA)
(๘) บทสรุปรายงานการพิจารณาวิธีการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่เหมาะสมที่สุด (Best Practical Environmental Option Report หรือ BPEO)
(๙) แผนการจัดการสิ่งแวดล้อมสำหรับกิจกรรมการรื้อถอน (Decommissioning Activity Environmental Management Plan)
(๑๐) วิธีการรายงานผลการปฏิบัติตามกิจกรรมการรื้อถอน (Closeout Report for Decommissioning Activity)
(๑๑) แผนการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายหลังกิจกรรมการรื้อถอน (Post Decommissioning Activity Monitoring Plan)
(๑๒) รายงานผลการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย
(๑๓) รายงานผลการสอบถามความคิดเห็นจากหน่วยงานของรัฐที่รับโอนสิ่งติดตั้ง หรือนำสิ่งติดตั้งไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น (ถ้ามี)
(๑๔) ใบอนุญาตและเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
(๑๕) รายงานการศึกษาเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานรื้อถอน (ถ้ามี)
(๑๖) ข้อมูลอื่น ๆ ที่อธิบดีกำหนด
ข้อ ๘ บทสรุปผู้บริหารเกี่ยวกับผู้รับสัมปทาน แหล่งผลิต สิ่งติดตั้งที่จะรื้อถอน และแนวทางการรื้อถอน ตามข้อ ๗ (๑) ต้องมีรายละเอียดอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(๑) สรุปข้อมูลของสัมปทานปิโตรเลียม การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม ปริมาณสำรองปิโตรเลียม และการผลิตปิโตรเลียมตั้งแต่เริ่มการผลิตจนถึงวันที่ผู้รับสัมปทานจัดทำแผนงานการรื้อถอนโดยละเอียด
(๒) เหตุผลของการจัดทำแผนงานการรื้อถอนโดยละเอียด หากเป็นกรณีที่ผู้รับสัมปทานถูกเพิกถอนสัมปทาน ให้ระบุเหตุผลที่ถูกเพิกถอนสัมปทาน
(๓) สรุปรายการหลุมและสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมที่จะรื้อถอนทั้งหมด
(๔) สรุปผลการพิจารณาวิธีการรื้อถอนที่เหมาะสมที่สุด
(๕) สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้เสีย
(๖) สรุปแผนการจัดการของเสียและวัสดุที่เกิดจากการรื้อถอน
(๗) สรุปเนื้อหาของแผนการรื้อถอน ระยะเวลาดำเนินงาน และประมาณการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน
ข้อ ๙ รายละเอียดของสิ่งติดตั้งที่จะรื้อถอน ตามข้อ ๗ (๒) ต้องมีรายละเอียดอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(๑) ข้อมูลสภาพพื้นที่ โดยรอบสิ่งติดตั้งที่จะรื้อถอน
(๒) รายละเอียดเกี่ยวกับหลุมสำรวจ หลุมประเมินผล หลุมผลิตปิโตรเลียม หลุมผลิตน้ำ หลุมอัดน้ำ หลุมทิ้งน้ำ หรือหลุมอื่น ๆ ที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียม
(๓) รายละเอียดของสิ่งติดตั้งที่จะรื้อถอน ได้แก่ สิ่งปลูกสร้าง อุปกรณ์ ท่อขนส่ง วัสดุและสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหมดที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม
(๔) รายการสิ่งติดตั้งที่จะส่งมอบให้แก่หน่วยงานของรัฐ
ข้อ ๑๐ รายละเอียดทางเทคนิค วิธีการ และเครื่องมือและเครื่องจักรในส่วนที่มีนัยสำคัญที่ใช้ในการรื้อถอน และขอบเขตการดำเนินการรื้อถอน ตามข้อ ๗ (๓) ต้องมีรายละเอียดจำแนกตามขอบเขตการดำเนินการรื้อถอนอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(๑) การวางแผน ได้แก่ การออกแบบทางวิศวกรรม การเตรียมการก่อนทำการรื้อถอนสิ่งติดตั้ง
(๒) การเตรียมความพร้อม ได้แก่ การปิดและสละหลุม การทำความสะอาดและการกำจัดสารปนเปื้อนออกจากอุปกรณ์การผลิต
(๓) การดำเนินการรื้อถอน ได้แก่ การรื้อถอนท่อขนส่ง การรื้อถอนสิ่งติดตั้ง การขนย้ายสิ่งติดตั้ง การจัดการตะกอนพื้นท้องทะเล
(๔) การจัดการของเสีย ได้แก่ การแยกส่วนประกอบของสิ่งติดตั้งและการจัดการของเสีย
(๕) การดำเนินงานภายหลังกิจกรรมการรื้อถอน ได้แก่ การฟื้นฟูสภาพพื้นที่ที่มีกิจกรรมการรื้อถอนและการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมโดยรอบ การติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายหลังกิจกรรมการรื้อถอน
ข้อ ๑๑ กำหนดการและระยะเวลาในการดำเนินการรื้อถอน ตามข้อ ๗ (๔) ต้องมีรายละเอียดอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(๑) ลาดับขั้นตอนของกิจกรรมตามขอบเขตการดำเนินงานรื้อถอนสิ่งติดตั้งทั้งหมด
(๒) กำหนดระยะเวลาเริ่มและสิ้นสุดการรื้อถอนแต่ละสิ่งติดตั้ง
ทั้งนี้ ต้องมีรายละเอียดเพียงพอที่จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่กำกับดูแล ติดตาม และตรวจสอบการดำเนินกิจกรรมการรื้อถอนของผู้รับสัมปทาน
ข้อ ๑๒ แผนการจัดการด้านความปลอดภัย ตามข้อ ๗ (๕) ต้องระบุความเสี่ยงและอันตรายทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นจากกิจกรรมการรื้อถอน รวมทั้งมาตรการหรือวิธีลดความเสี่ยงภัยและอันตรายดังกล่าว
ข้อ ๑๓ แผนการบริหารจัดการการดำเนินงานรื้อถอน ตามข้อ ๗ (๖) ต้องมีรายละเอียดอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(๑) แผนผังองค์กร โครงสร้างการบริหารงานโครงการรื้อถอน รายชื่อหรือตำแหน่ง ของผู้บริหารโครงการและผู้ประสานงานโครงการ รวมทั้งช่องทางในการติดต่อประสานงาน
(๒) เป้าหมาย ตัวชี้วัดความสำเร็จ และวิธีบริหารงานโครงการ
(๓) วิธีการรายงานความคืบหน้าของการดำเนินกิจกรรมการรื้อถอน ประกอบด้วย
(ก) รายงานการปฏิบัติงานรายวัน
(ข) รายงานการปฏิบัติงานรายเดือน ซึ่งสรุปผลของการปฏิบัติงานในรอบเดือนที่ผ่านมา และงานที่คาดว่าจะดำเนินการในอนาคตอันใกล้
(ค) รายงานเหตุฉุกเฉิน ในกรณีที่มีเหตุการณ์ไม่คาดหมายเกิดขึ้นและเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานหรือสิ่งแวดล้อม
(๔) วิธีการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐาน (Standard Operating Procedure) และวิธีการแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมตรวจสอบหรือรับรองการดำเนินกิจกรรมการรื้อถอน
ข้อ ๑๔ บทสรุปรายงานการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมจากการรื้อถอน ตามข้อ ๗ (๗) และบทสรุปรายงานการพิจารณาวิธีการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่เหมาะสมที่สุด ตามข้อ ๗ (๘) ต้องเป็นบทสรุปของรายงานที่จัดทำขึ้นตามประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับการจัดทำรายงานและแผนตามกระบวนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมจากการรื้อถอน และได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีแล้ว
ข้อ ๑๕ แผนการจัดการสิ่งแวดล้อมสำหรับกิจกรรมการรื้อถอน ตามข้อ ๗ (๙) วิธีการรายงานผลการปฏิบัติตามกิจกรรมการรื้อถอน ตามข้อ ๗ (๑๐) และแผนการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายหลังกิจกรรมการรื้อถอน ตามข้อ ๗ (๑๑) ต้องสอดคล้องกับการรายงานตามประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับการจัดทำรายงานและแผนตามกระบวนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมจากการรื้อถอน
ข้อ ๑๖ รายงานผลการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ตามข้อ ๗ (๑๒) ต้องแสดงผลการดำเนินงานตามแผนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียตามประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับการจัดทำรายงานและแผนตามกระบวนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมจากการรื้อถอน
ข้อ ๑๗ รายงานผลการสอบถามความคิดเห็นจากหน่วยงานของรัฐที่รับโอนสิ่งติดตั้ง หรือนำสิ่งติดตั้งไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น (ถ้ามี) ตามข้อ ๗ (๑๓) จะต้องมีสรุปรายงานการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสีย สำหรับกรณีหน่วยงานของรัฐรับโอนสิ่งติดตั้งหรือนำสิ่งติดตั้งไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น
ข้อ ๑๘ ใบอนุญาตและเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามข้อ ๗ (๑๔) คือ ใบอนุญาต หรือรายละเอียดของใบอนุญาต และเอกสารที่จำเป็นในการดำเนินกิจกรรมการรื้อถอน ซึ่งผู้รับสัมปทานต้องได้รับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากแผนการรื้อถอนโดยละเอียดได้รับการอนุมัติ ทั้งนี้ ใบอนุญาตและเอกสารที่จำเป็นในการดำเนินกิจกรรมการรื้อถอนในแปลงสำรวจใด ๆ นั้น อาจจะแตกต่างกันไปตามวิธีการรื้อถอนที่ผู้รับสัมปทานเลือกใช้
หมวด ๔
ประมาณการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน
ข้อ ๑๙ ประมาณการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน (Estimated Decommissioning Cost) ต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้
(๑) บทสรุปผู้บริหาร
(๒) รายการสิ่งติดตั้งที่จะถูกรื้อถอน
(๓) เทคนิควิธีการที่คาดว่าจะใช้ในการรื้อถอน
(๔) วิธีการประเมินค่าใช้จ่าย
(๕) รายละเอียดการประเมินค่าใช้จ่าย
(๖) ข้อมูลอื่น ๆ ที่อธิบดีกำหนด
ข้อ ๒๐ บทสรุปผู้บริหาร ตามข้อ ๑๙ (๑) ต้องมีรายละเอียดอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(๑) สรุปรายการสิ่งติดตั้งที่จะรื้อถอนตามแผนงานการรื้อถอนเบื้องต้นหรือแผนงานการรื้อถอน โดยละเอียด
(๒) สรุปวิธีการ ขั้นตอน และเทคนิคการดำเนินการรื้อถอนตามแผนงานการรื้อถอนเบื้องต้น หรือแผนงานการรื้อถอนโดยละเอียดะ
(๓) สรุปวิธีการประเมินค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน
(๔) ตารางสรุปประมาณการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนของสิ่งติดตั้ง โดยแสดงค่าใช้จ่ายต่อหน่วยสิ่งติดตั้งในแต่ละประเภท สรุปค่าใช้จ่ายรวมของแต่ละขอบเขตการดำเนินการรื้อถอน และค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมด
ข้อ ๒๑ รายการสิ่งติดตั้งที่จะถูกรื้อถอน ตามข้อ ๑๙ (๒) ต้องมีรายละเอียดอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(๑) แผนผังแสดงตำแหน่งของสิ่งติดตั้ง
(๒) รายละเอียดของสิ่งติดตั้งทั้งหมด แยกตามประเภท โดยระบุปริมาณ ขนาด และ/หรือ น้ำหนัก
(๓) รายละเอียดของหลุม แยกตามประเภท โดยระบุปริมาณ
ข้อ ๒๒ เทคนิควิธีการที่คาดว่าจะใช้ในการรื้อถอน ตามข้อ ๑๙ (๓) ต้องมีรายละเอียดอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(๑) เทคนิควิธีการที่คาดว่าจะใช้ในการรื้อถอนตามแผนงานการรื้อถอนเบื้องต้น หรือแผนงานการรื้อถอนโดยละเอียด
(๒) รายการเครื่องมือ เครื่องจักร กลอุปกรณ์หลัก และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ที่ต้องใช้ในการรื้อถอนสิ่งติดตั้ง
ข้อ ๒๓ วิธีการประเมินค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน ตามข้อ ๑๙ (๔) ต้องมีรายละเอียดอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(๑) สมมุติฐานที่ใช้ในการประเมินค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน
(๒) หลักการและวิธีการที่ใช้ในการประเมินค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน
(๓) มาตรฐานการประมาณราคาที่ใช้อ้างอิง และค่าขอบเขตความแม่นยำในการประมาณราคา
(๔) ค่าใช้จ่ายต่อหน่วยของเครื่องมือ เครื่องจักร กลอุปกรณ์หลัก สิ่งอำนวยความสะดวก และอัตราค่าจ้างบุคลากรและแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการรื้อถอน
ข้อ ๒๔ รายละเอียดการประเมินค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน ตามข้อ ๑๙ (๕) ต้องมีรายละเอียดในการคำนวณค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนทั้งหมด และค่าใช้จ่ายต่อหน่วยสิ่งติดตั้งโดยระบุค่าใช้จ่ายที่มีปริมาณงานและระยะเวลาตามขอบเขตการดำเนินการรื้อถอน พร้อมทั้งให้แยกรายละเอียดดังกล่าวแบ่งตามประเภท ดังต่อไปนี้
(๑) หลุม ได้แก่ หลุมสำรวจ หลุมประเมินผล หลุมผลิต หรือหลุมอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการปิโตรเลียม โดยแบ่งตามประเภทของการเตรียมหลุม (well schematics and well completion)
(๒) สิ่งปลูกสร้างในทะเล ได้แก่ แท่นประกอบการผลิต ได้แก่ แท่นหลุมผลิต แท่นผลิต แท่นเผาก๊าซ หรือแท่นอื่น ๆ ที่จำเป็นในการผลิต เก็บรักษา หรือขนส่งปิโตรเลียม และให้หมายความรวมถึงเรือผลิตและกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวหรือน้ำมันดิบ และเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวหรือน้ำมันดิบที่มีระบบท่อขนส่งเชื่อมต่อกับแท่นหลุมผลิตหรือแท่นผลิต
(๓) สิ่งปลูกสร้างบนบก ได้แก่ ฐานหลุมผลิต สถานีผลิต และสิ่งปลูกสร้างบนบกอื่น ๆ ที่จำเป็นในการผลิต เก็บรักษา หรือขนส่งปิโตรเลียม
(๔) ท่อขนส่ง ได้แก่ ท่อ ส่วนประกอบของท่อ และเครื่องมือหรืออุปกรณ์อื่นใดที่ใช้ในการขนส่งปิโตรเลียมสารพลอยได้ หรือน้ำที่ได้จากกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะวางอยู่บนพื้นดิน ใต้ดิน ในน้ำ หรือสิ่งปลูกสร้าง แต่ไม่หมายความถึงท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม หรือสารประกอบไฮโดรคาร์บอนอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้กฎหมายอื่น
(๕) การติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายหลังกิจกรรมการรื้อถอน
ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบและติดตามการเปลี่ยนแปลงของค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้ง ผู้รับสัมปทานต้องจัดให้มีและรายงานรายละเอียดอย่างน้อยตามคู่มือการประมาณค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมน
ข้อ ๒๕ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑
วีระศักดิ์ พึ่งรัศมี
อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ