ประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
เรื่อง แบบและหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการรับ การตรวจสอบ การเก็บรักษา การบังคับ การเบิกจ่าย และการคืนหลักประกันการรื้อถอน
อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๓๓ ข้อ ๓๔ ข้อ ๓๕ และข้อ ๓๖ แห่งกฎกระทรวงกำหนดแผนงานประมาณการค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๕๙ อธิบดีออกประกาศกำหนดแบบและหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการรับ การตรวจสอบ การเก็บรักษา การบังคับ การเบิกจ่าย และการคืนหลักประกันการรื้อถอน ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ในประกาศนี้
“หลักประกัน” หมายความว่า หลักประกันการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม
“ตู้นิรภัย” หมายความว่า กำปั่นหรือตู้เหล็กหรือหีบเหล็กอันมั่นคง ซึ่งใช้สำหรับเก็บรักษาหลักประกันของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
“กฎกระทรวง” หมายความว่า กฎกระทรวงกำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๕๙
“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
หมวดที่ ๑
คำขอวางหลักประกัน ใบรับการวางหลักประกัน และการตรวจสอบหลักประกัน
ข้อ ๒ ในการวางหลักประกัน ให้ผู้รับสัมปทานยื่นคำขอวางหลักประกัน ซึ่งแสดงรายละเอียดหลักประกันที่นำมาวางตามแบบคำขอวางหลักประกัน (แบบ ก) ท้ายประกาศนี้ พร้อมทั้งส่งมอบ หลักประกันให้ตรวจสอบ
ในกรณีที่สัมปทานใดมีผู้รับสัมปทานมากกว่าหนึ่งราย ให้ผู้รับสัมปทานที่เป็นผู้ดำเนินงานของสัมปทานนั้นเป็นผู้ยื่นแบบคำขอวางหลักประกัน
ข้อ ๓ ในการวางหลักประกัน ให้ผู้รับสัมปทานดำเนินการส่งมอบหลักประกันแต่ละประเภท ดังนี้
(๑) หลักประกันประเภทเงินสดหรือเช็คเงินสดที่ธนาคารสั่งจ่าย (Cashier Cheque) ให้ผู้รับสัมปทานนำส่งเข้าบัญชีเงินฝากของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่เปิดไว้เพื่อการรื้อถอน พร้อมส่ง หลักฐานการฝากเงินให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
(๒) หลักประกันประเภทพันธบัตรของรัฐบาลไทย ให้ส่งมอบพันธบัตรของรัฐบาลไทย พร้อมหนังสือส่งมอบพันธบัตรของรัฐบาลไทยตามแบบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด และหนังสือยินยอมให้บังคับพันธบัตรดังกล่าวตามแบบหนังสือยินยอมให้บังคับพันธบัตรของรัฐบาลไทย (แบบ ข) ท้ายประกาศนี้
(๓) หลักประกันประเภทสัญญาค้ำประกันของธนาคาร หรือสแตนบายเลตเตอร์ออฟเครดิต ประเภทเพิกถอนไม่ได้ ให้ส่งมอบสัญญาค้ำประกันของธนาคาร หรือสแตนบายเลตเตอร์ออฟเครดิต ประเภทเพิกถอนไม่ได้ ตามที่กำหนดในประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณามูลค่าและความน่าเชื่อถือของหลักประกันการรื้อถอน
ทั้งนี้ ให้ผู้รับสัมปทานเป็นผู้รับผิดชอบค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมดเกี่ยวกับการวางหลักประกัน
ข้อ ๔ เมื่อผู้รับสัมปทานวางหลักประกันตามข้อ ๓ ให้ตรวจสอบมูลค่าและความน่าเชื่อถือ ของหลักประกันที่ผู้รับสัมปทานนำมาวางตามประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณามูลค่าและความน่าเชื่อถือของหลักประกันการรื้อถอน และตรวจสอบ หลักประกันแต่ละประเภทดังต่อไปนี้ พร้อมเสนอข้อมูลการตรวจสอบต่ออธิบดีตามแบบตรวจสอบ หลักประกัน (แบบ ค) ท้ายประกาศนี้
(๑) หลักประกันประเภทเงินสดหรือเช็คเงินสดที่ธนาคารสั่งจ่าย (Cashier Cheque) ให้ตรวจสอบจำนวนเงินในบัญชีเงินฝากของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่เปิดไว้เพื่อการรื้อถอน ว่ามียอดเงิน ในบัญชีดังกล่าวถูกต้องครบถ้วนตามหลักฐานการนำฝากเงินและคำขอวางหลักประกัน
(๒) หลักประกันประเภทพันธบัตรของรัฐบาลไทย ให้ดำเนินการ ดังนี้
(ก) ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของรายการในพันธบัตรของรัฐบาลไทย รายการในหนังสือส่งมอบพันธบัตรของรัฐบาลไทย และสัญญายินยอมให้บังคับพันธบัตรของรัฐบาลไทย
(ข) ตรวจสอบจำนวนเงินที่ระบุในพันธบัตรของรัฐบาลไทยว่าถูกต้องครบถ้วนตามคำขอวางหลักประกัน
(ค) ตรวจสอบวันครบกำหนดไถ่ถอนพันธบัตรของรัฐบาลไทย
(ง) ทำหนังสือแจ้งการใช้พันธบัตรของรัฐบาลไทยดังกล่าวเป็นหลักประกัน และนำส่งพันธบัตรของรัฐบาลไทยต่อธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยบันทึกข้อความแสดงการใช้ตราสารหนี้เป็นหลักประกันในพันธบัตรของรัฐบาลไทยดังกล่าว ตามพิธีปฏิบัติในการใช้ตราสารหนี้เป็นหลักประกันซึ่งออกตามกฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออก การซื้อขาย การโอนและการใช้ตราสารหนี้เป็นหลักประกัน
(๓) หลักประกันประเภทสัญญาค้ำประกันของธนาคาร และสแตนบายเลตเตอร์ออฟเครดิต ประเภทเพิกถอนไม่ได้ ให้ดำเนินการ ดังนี้
(ก) ตรวจสอบความครบถ้วนของข้อความในสัญญาค้ำประกันของธนาคาร และสแตนบาย เลตเตอร์ออฟเครดิตประเภทเพิกถอนไม่ได้ตามแบบที่กำหนดในประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณามูลค่าและความน่าเชื่อถือของหลักประกันการรื้อถอน
(ข) ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของธนาคารผู้ออกหลักประกัน
(ค) ตรวจสอบวงเงินหลักประกันหรือวงเงินเครดิต แล้วแต่กรณี ว่าถูกต้องครบถ้วน ตามคำขอวางหลักประกัน
(ง) ตรวจสอบวันที่หลักประกันจะสิ้นสุด
(จ) ทำหนังสือถึงธนาคารผู้ออกหลักประกัน เพื่อให้ธนาคารผู้ออกหลักประกันมีหนังสือยืนยันการออกหลักประกัน
ข้อ ๕ เมื่อได้ตรวจสอบมูลค่าและความน่าเชื่อถือของหลักประกันว่าตามข้อ ๔ และพบว่าถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้อธิบดีออกใบรับการวางหลักประกันตามแบบใบรับการวางหลักประกัน (แบบ ง) ท้ายประกาศนี้ ให้แก่ผู้รับสัมปทาน และให้จัดให้มีสำเนาใบรับการวางหลักประกัน โดยเก็บรักษาสำเนาใบรับการวางหลักประกันไว้ในที่ปลอดภัย รวมทั้งจัดทำทะเบียนคุมใบรับการวางหลักประกัน
ในกรณีที่มีการตรวจสอบแล้วพบว่ามูลค่าของหลักประกันไม่ครบ หรือหลักประกันขาดความน่าเชื่อถือให้ถือว่าผู้รับสัมปทานไม่วางหลักประกันหรือวางหลักประกันไม่ครบตามจำนวน
หมวดที่ ๒
การเก็บรักษาหลักประกัน
ข้อ ๖ การเก็บรักษาหลักประกัน ให้เก็บรักษาหลักประกันแต่ละประเภท ดังนี้
(๑) หลักประกันประเภทเงินสดหรือเช็คเงินสดที่ธนาคารสั่งจ่าย (Cashier Cheque) ให้เก็บรักษาไว้ในบัญชีเงินฝากของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่เปิดไว้เพื่อการรื้อถอน
(๒) หลักประกันประเภทพันธบัตรของรัฐบาลไทย สัญญาค้ำประกันของธนาคาร หรือ สแตนบายเลตเตอร์ออฟเครดิตประเภทเพิกถอนไม่ได้ ให้เก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัยของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติหรือสถานที่อื่นที่มีความปลอดภัยตามที่อธิบดีเห็นชอบ
ข้อ ๗ ให้จัดทำทะเบียนคุมหลักประกัน และเสนอรายงานการเก็บรักษาหลักประกันต่ออธิบดีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
หมวดที่ ๓
การบังคับหลักประกัน การเบิกจ่าย
ข้อ ๘ ให้อธิบดีเป็นผู้มีอำนาจบังคับหลักประกันของผู้รับสัมปทาน เมื่อเข้ากรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้รับสัมปทานไม่ดำเนินการรื้อถอนหรือดำเนินการล่าช้า
(๒) ผู้รับสัมปทานวางหลักประกันเพียงบางส่วน และไม่นำหลักประกันส่วนที่เหลือมาวางให้ครบเต็มจำนวน ภายในสามสิบวันนับแต่ได้รับหนังสือแจ้งเตือนจากอธิบดี
(๓) ผู้รับสัมปทานไม่นำหลักประกันใหม่มาวางแทนที่หลักประกันเดิมที่มีกำหนดระยะเวลา ก่อนการรื้อถอนจะแล้วเสร็จ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันก่อนวันที่หลักประกันเดิมจะสิ้นสุด
เมื่อมีเหตุที่จะบังคับหลักประกันให้อธิบดีแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับสัมปทานทราบเหตุในการบังคับหลักประกัน ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานเห็นว่าเหตุดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ ให้ผู้รับสัมปทานแจ้งเป็นหนังสือต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเพื่อขอแก้ไขเหตุนั้น หากอธิบดีเห็นด้วยกับผู้รับสัมปทานว่าแก้ไขได้ ให้อธิบดีแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับสัมปทานแก้ไขเหตุนั้นภายในระยะเวลาที่เห็นสมควร ถ้าผู้รับสัมปทานไม่สามารถแก้ไขได้ในเวลาที่กำหนด ให้อธิบดีบังคับหลักประกัน
ข้อ ๙ เมื่อเข้ากรณีใดกรณีหนึ่งที่จะบังคับหลักประกันได้ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๘ ให้อธิบดี หรือบุคคลที่อธิบดีมอบหมายบังคับหลักประกันแต่ละประเภทดังนี้ และแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับสัมปทานทราบถึงการบังคับหลักประกัน
(๑) หลักประกันประเภทเงินสดหรือประเภทเช็คเงินสดที่ธนาคารสั่งจ่าย (Cashier Cheque) ให้จัดทำบัญชีแยกประเภทสำหรับเงินหลักประกันและเงินจากการบังคับหลักประกัน หรือดำเนินการด้วยวิธีการอื่นตามที่อธิบดีกำหนด
(๒) หลักประกันประเภทพันธบัตรของรัฐบาลไทย ให้ดำเนินการตามกฎกระทรวงของกระทรวงการคลัง ว่าด้วยกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออก การซื้อขาย การโอน และการใช้ตราสารหนี้ เป็นหลักประกัน เมื่อบังคับหลักประกันแล้ว ให้นำเงินที่ได้จากการบังคับหลักประกันเข้าบัญชีเงินฝาก ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่เปิดไว้เพื่อการรื้อถอน
(๓) หลักประกันประเภทสัญญาค้ำประกันของธนาคาร หรือสแตนบายเลตเตอร์ออฟเครดิตประเภทเพิกถอนไม่ได้ ให้มีหนังสือถึงธนาคารผู้ออกหลักประกัน แจ้งรายการหรือรายละเอียดของจำนวนเงินบังคับหลักประกัน และรายละเอียดการไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้รับสัมปทาน เพื่อให้ธนาคารนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่เปิดไว้เพื่อการรื้อถอน ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ธนาคารได้รับหนังสือจากอธิบดี
ข้อ ๑๐ เมื่อบังคับหลักประกันแล้วเสร็จ และเงินเข้าบัญชีเงินฝากของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่เปิดไว้เพื่อการรื้อถอนครบถ้วนแล้ว ให้ออกหลักฐานการบังคับหลักประกันให้แก่ผู้รับสัมปทาน
ข้อ ๑๑ การเบิกจ่ายหลักประกันที่ได้ดำเนินการบังคับหลักประกันตามประกาศนี้ ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ว่าด้วยการบริหารและเบิกจ่ายหลักประกันเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้ง
หมวดที่ ๔
การคืนหลักประกัน
ข้อ ๑๒ ให้อธิบดีคืนหลักประกันที่ผู้รับสัมปทานได้วางไว้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เกิดกรณี ดังต่อไปนี้
(๑) อธิบดีได้ให้ความเห็นชอบต่อรายงานผลการปฏิบัติตามกิจกรรมการรื้อถอน
(๒) อธิบดีได้ให้ความเห็นชอบต่อรายงานผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายหลังกิจกรรมการรื้อถอน
(๓) อธิบดีเห็นชอบให้ลดมูลค่าของหลักประกัน
(๔) อธิบดีเห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงหลักประกันหรือประเภทหลักประกัน
(๕) ผู้รับสัมปทานได้รับอนุญาตให้ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมและมีหนังสือร้องขอคืนหลักประกัน
(๖) ผู้รับสัมปทานนำหลักประกันใหม่มาวางแทนที่หลักประกันประเภทสัญญาค้ำประกันของธนาคารหรือประเภทสแตนบายเลตเตอร์ออฟเครดิตประเภทเพิกถอนไม่ได้ ที่ขาดความน่าเชื่อถือ ภายในระยะเวลาที่กำหนดในข้อ ๘ ของประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณามูลค่าและความน่าเชื่อถือของหลักประกันการรื้อถอน
(๗) ผู้รับสัมปทานนำหลักประกันใหม่มาวางแทนที่หลักประกันเดิมซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอน หรือระยะเวลาการประกันจะสิ้นสุดลงก่อนการรื้อถอนจะแล้วเสร็จ ภายในระยะเวลาที่กำหนดในข้อ ๙ ของประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณามูลค่า และความน่าเชื่อถือของหลักประกันการรื้อถอน
(๘) ผู้รับสัมปทานส่งมอบสิ่งติดตั้งให้แก่รัฐและค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ส่งมอบตามประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เรื่อง ข้อตกลงการส่งมอบสิ่งติดตั้ง
ในการขอคืนหลักประกัน ให้ผู้รับสัมปทานยื่นคำขอคืนหลักประกัน ระบุเหตุผลในการขอคืนหลักประกัน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งแสดงรายละเอียดหลักประกันที่ขอคืนตามแบบคำขอคืนหลักประกัน (แบบ จ) ท้ายประกาศนี้ต่ออธิบดี และให้อธิบดีคืนหลักประกันภายในระยะเวลาที่กำหนดในวรรคหนึ่ง
ในกรณีที่สัมปทานใดมีผู้รับสัมปทานมากกว่าหนึ่งราย ให้ผู้รับสัมปทานที่เป็นผู้ดำเนินงานของสัมปทานนั้นเป็นผู้ยื่นแบบคำขอคืนหลักประกัน
ข้อ ๑๓ ให้อธิบดีคืนหลักประกันแต่ละประเภทที่ผู้รับสัมปทานได้วางไว้ ดังนี้
(๑) หลักประกันประเภทเงินสดหรือเช็คเงินสดที่ธนาคารสั่งจ่าย (Cashier Cheque) ให้คืนเป็นเช็คสั่งจ่ายผู้รับสัมปทาน ทั้งนี้ ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ตามข้อ 34 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
(๒) หลักประกันประเภทพันธบัตรของรัฐบาลไทย ให้คืนเมื่อได้ดำเนินการไถ่ถอนตามพิธีปฏิบัติในการใช้ตราสารหนี้เป็นหลักประกันซึ่งออกตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออก การซื้อขาย การโอนและการใช้ตราสารหนี้เป็นหลักประกันแล้ว
(๓) หลักประกันประเภทสัญญาค้ำประกันของธนาคาร และสแตนบายเลตเตอร์ออฟเครดิตประเภทเพิกถอนไม่ได้ ให้คืนหลักประกันดังกล่าวให้แก่ผู้รับสัมปทาน
ทั้งนี้ ให้ผู้รับสัมปทานรับผิดชอบค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมดเกี่ยวกับการคืนหลักประกัน และในการคืนหลักประกัน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ผู้รับสัมปทานลงนามในใบรับคืนหลักประกันการรื้อถอน ตามแบบใบรับคืนหลักประกันการรื้อถอน (แบบ ฉ) ท้ายประกาศนี้ เพื่อเป็นหลักฐานว่าผู้รับสัมปทานได้รับหลักประกันคืนถูกต้องและครบถ้วน
ข้อ ๑๔ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒
เปรมฤทัย วินัยแพทย์
อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ