กฎกระทรวง
ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2514)
ออกตามความในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม
พ.ศ. 2514
------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 (3) แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในการประกอบกิจการปิโตรเลียม นายจ้างต้อง
(1) จัดให้มีทะเบียนและประวัติคนงานที่ทำงานอยู่ในเขตปฏิบัติการเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมแต่ละหน่วย ตามแบบพิมพ์ที่กรมทรัพยากรธรณีกำหนด และเก็บรักษาไว้ที่หน่วยนั้นเพื่อแสดงแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ และส่งสำเนาให้กรมทรัพยากรธรณีหนึ่งชุดภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เริ่มประกอบกิจการปิโตรเลียม
(2) ลงทะเบียนคนงานทันทีเมื่อมีคนงานเข้าทำงานหรือออกจากงาน และรายงานให้กรมทรัพยากรธรณีทราบพร้อมกับส่งประวัติคนงานที่เข้าทำงานหรือออกจากงานภายในวันที่ 5 ของเดือนปฏิทินถัดไป
(3) จัดให้มียารักษาโรคและเครื่องมือแพทย์สำหรับปฐมพยาบาลไว้ ณ หน่วยปฏิบัติการที่ทำการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมทุกแห่ง เพื่อช่วยเหลือคนงานได้ทันท่วงทีเมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยโดยไม่คิดมูลค่า
(4) รายงานให้กรมทรัพยากรธรณีทราบภายในเจ็ดสิบสองชั่วโมง เมื่อคนงานได้รับอันตรายเกี่ยวกับกายหรือจิตใจ เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียม
(5) จัดให้มีที่พัก น้ำดื่ม น้ำใช้ แสงสว่าง และส้วมที่ถูกสุขลักษณะสำหรับคนงานในเขตปฏิบัติการเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียม
(6) จัดให้มีเจ้าหน้าที่ทำการตรวจตราเพื่อความปลอดภัยและป้องกันอุบัติเหตุเป็นประจำ ณ หน่วยปฏิบัติการที่ทำการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมที่มีคนงานตั้งแต่ยี่สิบคนขึ้นไปและบันทึกผลการตรวจไว้เป็นหลักฐานเพื่อแสดงแก่พนักงานเจ้าหน้าที่
(7) อบรมเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลหรือการป้องกันอันตรายที่เกิดจากการปฏิบัติงาน และให้ความร่วมมือกับกรมทรัพยากรธรณีในการจัดการอบรม
(8) ดูแลรักษาบริเวณหน่วยปฏิบัติการเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย และให้มีผู้รับผิดชอบทำการควบคุมดูแลโดยใกล้ชิดตลอดเวลาปฏิบัติการ
(9) จัดให้มีเครื่องมือและอุปกรณ์ดับเพลิงตามที่กฎหมายกำหนด ประจำไว้ณ ที่ต่าง ๆ ในบริเวณที่มีการดำเนินกิจการปิโตรเลียม
(10) จัดให้มีเครื่องให้ความปลอดภัยแก่คนงานตามความเหมาะสมกับสภาพและลักษณะของการปฏิบัติงานและสถานที่ ประจำไว้ ณ หน่วยปฏิบัติการเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียม
ข้อ 2 ในการใช้เครื่องจักรสำหรับการประกอบกิจการปิโตรเลียม นายจ้างต้อง
(1) ควบคุมมิให้ผู้อื่นซึ่งไม่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงเข้าไปปฏิบัติงานเกี่ยวกับเครื่องจักร
(2) ควบคุมให้คนงานซึ่งปฏิบัติงานใกล้ส่วนที่เคลื่อนไหวของเครื่องจักรสวมเสื้อผ้าที่เหมาะสมและรัดกุมกับสภาพของงาน
(3) ปิดกั้นเครื่องจักร สายพาน ฟันเฟือง ข้อเสือหรือไฟลวีล ที่อาจเป็นอันตรายแก่บุคคลให้เป็นที่ปลอดภัย
(4) ปิดกั้นปุลเลที่อยู่ในระยะสูงจากพื้นอาคารหรือทางเดินไม่เกิน 2.5 เมตรให้เป็นที่ปลอดภัย
(5) ควบคุมมิให้ผู้ใดเริ่มเดินเครื่องจักร จนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีผู้อื่นอยู่ในระยะที่อาจได้รับอันตรายจากเครื่องจักรนั้น
(6) จัดทางเดินให้ห่างจากเครื่องจักรพอสมควร และถ้าทางเดินแคบ ต้องปิดกั้นเครื่องจักรด้านที่อยู่ชิดทางเดินให้เป็นที่ปลอดภัย
(7) ควบคุมให้ผู้ใช้เครื่องหินลับที่หมุนด้วยจักรกลสวมแว่นตาป้องกันภัย
(8) จัดให้เครื่องจักรที่เคลื่อนที่ได้ด้วยจักรกล มีเครื่องห้ามล้อ เครื่องให้สัญญาณและไฟที่ใช้การได้ดี
ข้อ 3 ในการใช้หม้อน้ำของเครื่องจักรไอน้ำสำหรับการประกอบกิจการปิโตรเลียม นายจ้างต้อง
(1) จัดให้มีการตรวจสอบภายในหม้อน้ำไม่น้อยกว่าปีละหนึ่งครั้ง
(2) จัดให้มีการตรวจสอบลิ้นป้องกันภัยเป็นประจำ
(3) รักษาเครื่องวัดระดับน้ำ เครื่องวัดความดันไอน้ำและส่วนประกอบของเครื่องวัด ให้สะอาดและอยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดี
(4) ควบคุมมิให้ผู้ใดซ่อมแซมหม้อน้ำหรือส่วนประกอบที่ต่อจากหม้อน้ำในขณะที่มีความดันไอน้ำอยู่
(5) จัดให้มีทางออกไม่น้อยกว่าสองทางสำหรับห้องที่ติดตั้งหม้อน้ำ ถ้าทางออกมีบานประตูต้องใช้บานประตูที่เปิดออกทางด้านนอก
ข้อ 4 ในการใช้ไฟฟ้าสำหรับการประกอบกิจการปิโตรเลียม นายจ้างต้อง
(1) จัดให้สายไฟแรงสูงอยู่สูงจากพื้นดินไม่น้อยกว่า 5 เมตร และถ้าจำเป็นต้องวางสายผ่านอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นต้องอยู่สูงกว่าส่วนบนของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างไม่น้อยกว่า 3 เมตร
(2) จัดให้มีเครื่องป้องกันฟ้าผ่าสำหรับอุปกรณ์และวงจรไฟฟ้าแรงสูง
(3) จัดให้มีป้ายข้อความว่า อันตราย-ไฟฟ้าแรงสูง แสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งโดยใช้ป้ายพื้นสีขาว ตัวอักษรสีแดงไว้ที่ตั้งหม้อแปลงและแผงไฟแรงสูง
(4) จัดให้มีสายดินสำหรับโครงโลหะ เปลือกหรือสิ่งปกคลุมมอเตอร์หรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แผงไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นใด ที่ไฟฟ้าอาจรั่วไหลได้
(5) จัดให้มีการตรวจสอบวงจรสายดินให้ใช้การได้ดีอยู่เสมอ
(6) จัดให้ที่ตั้งแผงไฟมี
(ก) เนื้อที่ว่างโดยรอบพอที่จะปฏิบัติงานได้โดยสะดวก
(ข) แสงสว่างเพียงพอ
(ค) เครื่องตัดวงจรไฟฟ้าในกรณีฉุกเฉิน
(7) จัดให้มีเครื่องหมายแสดงหน้าที่ของสวิทช์ไฟฟ้าแต่ละตัวให้ชัดเจนไว้ที่สวิทช์นั้น
(8) ควบคุมมิให้มีการปฏิบัติการเกี่ยวกับวงจรไฟฟ้าในขณะที่มีกระแสไฟฟ้าผ่าน เว้นแต่ในกรณีจำเป็น
(9) ผูกหรือใส่กุญแจสวิทช์ไฟฟ้าแรงสูงเมื่อปลดสวิทช์นั้นออกจากวงจร และจัดให้มีป้ายข้อความว่า อันตราย-อย่าสับสวิทช์ แสดงให้เห็น
โดยชัดแจ้ง
(10) ควบคุมมิให้ผู้ใดสับสวิทช์ไฟฟ้าในวงจรจนกว่าจะทราบแน่นอนว่าไม่มีผู้อื่นกำลังปฏิบัติงานเกี่ยวกับวงจรนั้นอยู่
(11) ควบคุมมิให้ผู้ใดพันสายเคเบิลขณะที่มีกระแสไฟฟ้าผ่าน
(12) ไม่ใช้สายไฟที่ไม่มีฉนวนหุ้มต่อแยกเข้าหรือ ต่อภายในอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างอื่น
ข้อ 5 ในการใช้วัตถุระเบิดสำหรับการประกอบกิจการปิโตรเลียม นายจ้างต้อง
(1) จัดให้มีสถานที่เก็บวัตถุระเบิดประกอบด้วยลักษณะดังนี้
(ก) ตัวอาคารต้องทำด้วยวัตถุทนไฟ มีสภาพป้องกันน้ำและกระสุนปืนได้ และพื้นอาคารต้องประกอบด้วยวัตถุที่ไม่เกิดประกายไฟ
(ข) ห่างจากอาคารอื่นไม่น้อยกว่า 75 เมตร และห่างจากปล่องอุโมงค์หรือช่องทางเข้าไปยังที่ทำงานใต้ดินไม่น้อยกว่า 100 เมตร
(ค) มีกุญแจใส่ไว้โดยแข็งแรง
(ง) มีป้ายข้อความว่า อันตราย-วัตถุระเบิด แสดงให้เห็นโดยชัดแจ้ง โดยใช้ป้ายพื้นสีขาว ตัวอักษรสีแดง ไว้รอบอาคาร
(จ) มีการระบายอากาศได้ดี
(2) ไม่นำวัตถุอื่นมารวมเก็บไว้ในสถานที่เก็บวัตถุระเบิด
(3) ดูแลมิให้มีหญ้าแห้งหรือวัตถุเชื้อเพลิงอื่นใดในระยะ 8 เมตรโดยรอบสถานที่เก็บวัตถุระเบิด
(4) แยกเก็บดินระเบิด เชื้อปะทุหรือสายชนวนไว้ในสถานที่เก็บวัตถุระเบิดคนละแห่ง โดยแต่ละแห่งต้องห่างกันไม่น้อยกว่า 30 เมตร
(5) จัดให้มีบัญชีแสดงยอดคงเหลือของดินระเบิด เชื้อปะทุ และสายชนวนพร้อมที่จะแสดงแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้เสมอ
(6) ไม่เก็บหรือใช้วัตถุระเบิดที่เสื่อมคุณภาพ
(7) ควบคุมมิให้มีการนำเชื้อปะทุร่วมไปกับดินระเบิด
(8) ควบคุมมิให้มีการบรรทุกโลหะ เครื่องมือประกอบด้วยโลหะ น้ำมันไม้ขีดไฟ กรด หรือวัตถุที่ติดไฟง่ายหรือที่เกิดประกายไฟ ไปกับยานพาหนะที่บรรทุกวัตถุระเบิด
(9) ควบคุมมิให้ผู้อื่นซึ่งไม่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงเข้าไปปฏิบัติงานเกี่ยวกับการประจุรูระเบิด
(10) ควบคุมมิให้ใช้วัตถุอื่นนอกจากไม้ในการประจุรูระเบิด
(11) จัดให้นำเปลวไฟทุกชนิดออกห่างจากรูระเบิดในระยะที่ปลอดภัยในขณะที่ทำการประจุรูระเบิด
(12) ควบคุมมิให้ผู้ใดสูบบุหรี่ จุดไม้ขีดไฟหรือก่อให้เกิดประกายไฟหรือเปลวไฟในขณะที่ปฏิบัติการเกี่ยวกับวัตถุระเบิด
(13) นำวัตถุระเบิดที่เหลือใช้จากการระเบิดของแต่ละวันกลับสถานที่เก็บวัตถุระเบิดโดยพลัน
(14) ดูแลให้ผู้จุดระเบิดให้สัญญาณอันเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปก่อนทำการระเบิดและจะให้สัญญาณปลอดภัยเพื่อให้คนงานเข้าไปทำงานได้ เมื่อบริเวณที่จุดระเบิดไม่มีฝุ่นควันหรือวัตถุระเบิดที่ด้าน ทั้งนี้ต้องหลังการระเบิดไม่น้อยกว่าสิบห้านาที
(15) ดูแลให้แก้ไขวัตถุระเบิดที่ด้าน โดยทำการระเบิดในรูระเบิดใหม่ที่เจาะในแนวขนานกับรูเดิมห่างออกไปไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร
(16) ใช้สายชนวนธรรมดาที่มีความยาวไม่น้อยกว่า 1 เมตร
(17) ควบคุมมิให้มีการขบหลอดเชื้อปะทุติดกับสายชนวนโดยวิธีอื่นนอกจากวิธีใช้คีมที่ใช้เฉพาะในการนั้น
(18) ควบคุมมิให้มีการใช้วัตถุอื่นนอกจากทองแดงหรือไม้ในการแทงรูที่แท่งดินระเบิดเพื่อใส่เชื้อปะทุและสายชนวน
(19) จุดระเบิดด้วยไฟฟ้า ดังนี้
(ก) ต่อลัดวงจรสายทั้งสองของเชื้อปะทุไฟฟ้าไว้จนกว่าพร้อมที่จะทำการระเบิด
(ข) ต่อลัดวงจรสายทั้งสองของสายไฟที่จะนำกระแสไฟฟ้าเข้าเชื้อปะทุไว้จนกว่าพร้อมที่จะทำการระเบิด
(ค) เมื่อทำการจุดระเบิดจากวงจรไฟฟ้า ให้ใช้สวิทช์ไฟฟ้าสองทอง และวางให้ห่างจากสถานที่ทำการระเบิดในระยะที่ปลอดภัย และให้ต่อลัดวงจรสายไฟทั้งสองข้างไว้จนกว่าพร้อมที่จะทำการระเบิด
(20) จัดให้มีป้ายข้อความว่า อันตราย-บริเวณทำการระเบิด แสดงให้เห็นโดยชัดแจ้ง โดยใช้ป้ายพื้นสีขาว ตัวอักษรสีแดง ไว้ในระยะรัศมี 100 เมตร โดยรอบที่ทำการระเบิด
ให้ไว้ ณ วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2514
พจน์ สารสิน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ
----------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากการกำหนดวิธีการให้ความคุ้มครองแก่คนงานและความปลอดภัยแก่บุคคลภายนอกตามมาตรา 14 (3) แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ต้องกระทำโดยกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงฉบับนี้
[รก.2514/102/32พ./23 กันยายน 2514]