กฎกระทรวง ออกตามความในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ----------------------------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 (5) และมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ให้ยกเลิก (1) กฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2514) ออกตามความในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 (2) กฎกระทรวง ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ข้อ 2 สมรรถนะเชิงพาณิชย์ของหลุมปิโตรเลียม ได้แก่ พลังผลิตของหลุมปิโตรเลียมหลุมหนึ่งหรือหลายหลุมในโครงสร้างเดียวกัน ซึ่งถ้าใช้ผลิตปิโตรเลียมในระยะเวลาสิบสองปีจะต้องผลิตปิโตรเลียมได้เป็นมูลค่าที่คุ้มกับค่าใช้จ่าย ดังต่อไปนี้ (1) ค่าใช้จ่ายในการเจาะ การเตรียมการ และติดตั้งอุปกรณ์ประจำหลุมปิโตรเลียมหลุมหนึ่งหรือหลายหลุมในโครงสร้างนั้น ทั้งนี้ ไม่รวมบรรดาค่าใช้จ่ายที่ได้ใช้จ่ายไปแล้วเฉพาะเพื่อการสำรวจหาปิโตรเลียมในโครงสร้างดังกล่าวก่อนวันยื่นรายงานแสดงสมรรถนะเชิงพาณิชย์ตามข้อ 4 (2) ค่าใช้จ่ายในการผลิต แยก และขนส่งปิโตรเลียมจากหลุมจนถึงสถานที่ขายหรือจำหน่าย (3) ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม และค่าธรรมเนียมเพื่อตอบแทนบริการตามกฎหมายอื่น พลังผลิตตามวรรคหนึ่ง ให้คำนวณโดยการประมาณการจากความหนาสุทธิของชั้นหิน ที่ให้ปิโตรเลียม ลักษณะเฉพาะของหินอุ้มปิโตรเลียมและของปิโตรเลียม ข้อมูลเกี่ยวกับกำลังการผลิต และเนื้อที่ระบายปิโตรเลียมซึ่งมีเนื้อที่ไม่เกินกว่าพื้นที่ผลิตตามข้อ 3 มูลค่าปิโตรเลียมตามวรรคหนึ่ง ให้คำนวณจากราคาที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการเรียกเก็บค่าภาคหลวงในขณะที่ยื่นรายงานแสดงสมรรถนะเชิงพาณิชย์ตามข้อ 4 ข้อ 3 พื้นที่ผลิตแต่ละพื้นที่ที่ผู้รับสัมปทานกำหนดขึ้น จะต้องเป็นพื้นที่ที่ครอบคลุมเนื้อที่ระบายปิโตรเลียมเฉพาะที่มีหลักฐานสนับสนุนว่า มีปิโตรเลียมกักเก็บอยู่และสามารถผลิตปิโตรเลียมได้จากชั้นปิโตรเลียมที่พบในหลุมปิโตรเลียมหลุมหนึ่งหรือหลายหลุมโดยอาศัยข้อมูลของหลุมปิโตรเลียม ข้อมูลทางธรณีวิทยาและการวัดความไหวสะเทือน และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม ในกรณีที่พื้นที่ผลิตกำหนดขึ้นจากหลุมปิโตรเลียมเพียงหลุมเดียว ให้มีเนื้อที่ได้ไม่เกินสองตารางกิโลเมตร รูปพื้นที่ผลิตต้องเป็นรูปหลายเหลี่ยม มีจุดพิกัดรุ้งแวงทางภูมิศาสตร์แสดงไว้ให้ชัดแจ้ง ข้อ 4 ผู้รับสัมปทานซึ่งประสงค์จะแสดงว่าได้พบหลุมปิโตรเลียมที่มีสมรรถนะเชิงพาณิชย์ตามข้อ 2 และได้กำหนดพื้นที่ผลิตตามข้อ 3 แล้ว ให้ยื่นรายงานแสดงสมรรถนะเชิงพาณิชย์ต่ออธิบดีเพื่อขอรับความเห็นชอบรายงานดังกล่าว ให้แสดงหลักฐานทางธรณีวิทยา การคำนวณพลังผลิต และการเปรียบเทียบเพื่อแสดงสมรรถนะเชิงพาณิชย์ ดังต่อไปนี้ (1) แผนการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ผลิต ซึ่งแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับระยะเวลาของความสามารถในการผลิตโดยกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุด ปริมาณงานที่จะทำในระหว่างการผลิต จำนวนและตำแหน่งของหลุมผลิต วิธีการที่ใช้ในการผลิต และอุปกรณ์การผลิตต่าง ๆ (2) รายละเอียดเกี่ยวกับประมาณการค่าใช้จ่ายในการลงทุนพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม ในพื้นที่ผลิต ตลอดจนดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายทางการเงินอื่น ๆ โดยระบุประเภทของค่าใช้จ่าย ช่วงเวลาที่จะเกิดค่าใช้จ่ายนั้น พร้อมทั้งการประมาณการจำนวนค่าใช้จ่ายในแต่ละช่วงเวลา ค่าใช้จ่ายดังกล่าวนี้ไม่นับรวมถึงรายละเอียดของบรรดาค่าใช้จ่ายที่ได้ใช้จ่ายไปแล้วเฉพาะเพื่อการสำรวจหาปิโตรเลียมในโครงสร้างดังกล่าวก่อนวันยื่นรายงานแสดงสมรรถนะเชิงพาณิชย์ (3) ประมาณการค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายให้แก่ทางราชการ (4) รายละเอียดเกี่ยวกับปริมาณสำรองของปิโตรเลียมที่คาดว่าจะพบในพื้นที่ที่ขอเป็นพื้นที่ ผลิต ซึ่งคำนวณโดยวิธีทางวิศวกรรมปิโตรเลียมที่เป็นที่ยอมรับตามหลักวิชาการโดยความเห็นชอบของ กรมทรัพยากรธรณี คุณสมบัติของหินอุ้มปิโตรเลียม ผลการวิเคราะห์ของไหลในแหล่งปิโตรเลียม และ ในกรณีของน้ำมันดิบ ให้แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่สามารถแยกหรือกลั่นออกมาได้ด้วย (5) รายละเอียดเกี่ยวกับประมาณอัตราการผลิตโดยเฉลี่ยต่อวันในช่วงระยะเวลาสิบสองปี ในพื้นที่ผลิต และประมาณมูลค่าของผลผลิต โดยให้คำนวณจากราคาที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการเรียกเก็บ ค่าภาคหลวง ในขณะที่ยื่นรายงานนี้ (6) รายละเอียดเกี่ยวกับสมรรถนะเชิงพาณิชย์โดยการเปรียบเทียบมูลค่าของ ปิโตรเลียมตาม (5) กับค่าใช้จ่ายตาม (2) และ (3) (7) ข้อมูลทางธรณีวิทยา ธรณีฟิสิกส์ การเจาะสำรวจ รวมทั้งทางด้านวิศวกรรมปิโตรเลียมอื่นๆ ที่ใช้ในการคำนวณตาม (3) (4) และ (5) (8) แผนที่แสดงแนวเขตพื้นที่ที่ขอเป็นพื้นที่ผลิต เมื่ออธิบดีโดยอนุมัติของรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ผู้รับสัมปทานจึงจะทำการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ผลิตนั้นได้ตามแผนการผลิตตาม (1) ข้อ 5 ถ้าได้กำหนดพื้นที่ผลิตไว้ก่อนแล้ว ผู้รับสัมปทานต้องกำหนดพื้นที่ผลิตอีกครั้งหนึ่ง ภายในหกเดือนก่อนวันสิ้นระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม
ให้ไว้ ณ วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2530
ประมวล สภาวสุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
บันทึกหลักการและเหตุผล
|