หมวด 3
การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
มาตรา 22[11] รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) ให้สัมปทานตามมาตรา 23
(2) ต่อระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมตามมาตรา 25
(3) ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมตามมาตรา 26
(4) อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงปริมาณงานตามมาตรา 30
(5) อนุมัติให้โอนข้อผูกพันระหว่างแปลงสำรวจตามมาตรา 33
(6) อนุญาตให้ผู้รับสัมปทานรับบริษัทอื่นเข้าร่วมประกอบกิจการปิโตรเลียมตามมาตรา 47
(7) อนุญาตให้โอนสัมปทานตามมาตรา 50
(8) เพิกถอนสัมปทานตามมาตรา 51 มาตรา 52 และมาตรา 53
(9) แจ้งให้ผู้รับสัมปทานทราบว่ารัฐบาลจะเข้าใช้สิทธิประกอบกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งด้วยความเสี่ยงภัยแต่ฝ่ายเดียวตามมาตรา 52 ทวิ
(10) สั่งให้ผู้รับสัมปทานจัดหาปิโตรเลียมเพื่อใช้ในราชอาณาจักรตามมาตรา 60
(11) ประกาศห้ามส่งปิโตรเลียมออกนอกราชอาณาจักรตามมาตรา 61
(12) สั่งให้ผู้รับสัมปทานร่วมกันผลิตปิโตรเลียมตามมาตรา 72
(13) สั่งให้ผู้รับสัมปทานเสียค่าภาคหลวงเป็นปิโตรเลียมตามมาตรา 83
(14)[12] (ยกเลิก)
(15) ลดหย่อนค่าภาคหลวงสำหรับปิโตรเลียมตามมาตรา 99 ทวิ และมาตรา 99 ตรี
(16) กำหนดค่าคงที่แสดงสภาพทางธรณีวิทยาของแปลงสำรวจตามมาตรา 100 ฉ
การดำเนินการตาม (1) (3) (7) หรือ (15) ต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
มาตรา 22/1[13] อธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) ขยายอายุสัมปทานตามมาตรา 27
(2) อนุมัติการกำหนดพื้นที่ผลิตตามมาตรา 42
(3) อนุญาตให้ขยายระยะเวลาเริ่มผลิตตามมาตรา 42 ทวิ
(4) มอบหมายให้บุคคลอื่นเข้าดำเนินการบำบัดปัดป้องความโสโครกอันเนื่องจากการประกอบกิจการปิโตรเลียมแทนหรือร่วมกับผู้รับสัมปทานตามมาตรา 75
(5) ให้ความเห็นชอบแผนงานและประมาณการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง วัสดุอุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวก หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นเข้าดำเนินการรื้อถอนแทนหรือร่วมกับผู้รับสัมปทานตามมาตรา 80/1
(ความในมาตรานี้ ต่อมาได้ถูกยกเลิกและแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ โปรดดู พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 มาตรา 6 และ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550 มาตรา 6)
(ได้มีการเพิ่มมาตรา 22/1 โปรดดู พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550 มาตรา 7 )
มาตรา 23 ปิโตรเลียมเป็นของรัฐ ผู้ใดสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในที่ใด ไม่ว่าที่นั้นเป็นของตนเองหรือบุคคลอื่น ต้องได้รับสัมปทาน ได้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือได้รับสัญญาจ้างบริการ ทั้งนี้ การขอและการได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตให้เป็นไปตามหมวด 3/1 สัญญาแบ่งปันผลผลิต และการได้มาซึ่งผู้รับสัญญาจ้างบริการให้เป็นไปตามหมวด 3/2 สัญญาจ้างบริการ[14]
การขอสัมปทานให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
แบบสัมปทานให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
การกำหนดให้ที่ใดสมควรที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมตามวรรคหนึ่ง ในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี[15]
มาตรา 24 ผู้ขอสัมปทานต้อง
(1) เป็นบริษัท และ
(2) มีทุน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญ เพียงพอที่จะสำรวจ ผลิต ขาย และจำหน่ายปิโตรเลียม
ในกรณีที่ผู้ขอสัมปทานไม่มีลักษณะครบถ้วนตาม (2) ต้องมีบริษัทอื่นซึ่งรัฐบาลเชื่อถือและมีลักษณะตาม (2) และมีความสัมพันธ์ในด้านทุนหรือการจัดการกับผู้ขอสัมปทาน รับรองที่จะให้ทุน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญเพียงพอที่จะสำรวจ ผลิต ขาย และจำหน่ายปิโตรเลียม
มาตรา 25[16] ระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมตามสัมปทานให้มีกำหนดไม่เกินหกปีนับแต่วันให้สัมปทาน
ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานประสงค์จะขอต่อระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมให้ผู้รับสัมปทานยื่นคำขอต่อระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม พร้อมกับเสนอข้อผูกพันในด้านปริมาณเงินปริมาณงาน หรือทั้งปริมาณเงินและปริมาณงานสำหรับการสำรวจปิโตรเลียมในช่วงข้อผูกพันช่วงที่สามก่อนสิ้นระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมไม่น้อยกว่าหกเดือน แต่ถ้าผู้รับสัมปทานขอสำรวจปิโตรเลียมไม่เกินสามปี ไม่มีสิทธิขอต่อระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมอีก
การต่อระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมให้กระทำได้เมื่อผู้รับสัมปทานได้ปฏิบัติตามสัมปทานทุกประการและได้ตกลงในเรื่องข้อผูกพันช่วงที่สาม สำหรับการสำรวจปิโตรเลียมก่อนสิ้นช่วงข้อผูกพันช่วงที่สองไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน
การต่อระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม ให้กระทำได้เพียงครั้งเดียวเป็นเวลาไม่เกินสามปี
(ความในมาตรานี้ ต่อมาได้ถูกยกเลิกและแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ โปรดดู พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 มาตรา 7)
มาตรา 26[17] ระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมตามสัมปทานให้มีกำหนดไม่เกินยี่สิบปีนับแต่วันถัดจากวันสิ้นระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม แม้จะมีการผลิตปิโตรเลียมในระหว่างระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมด้วยก็ตาม[18]
ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานประสงค์จะขอต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม ให้ผู้รับสัมปทานยื่นคำขอต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมก่อนสิ้นระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมไม่น้อยกว่าหกเดือน
การต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมให้กระทำได้เมื่อผู้รับสัมปทานได้ปฏิบัติตามสัมปทานทุกประการและได้ตกลงในเรื่องข้อกำหนด ข้อผูกพัน และเงื่อนไขที่ใช้อยู่ทั่วไปในขณะนั้นก่อนสิ้นระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน
การต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมให้กระทำได้เพียงครั้งเดียวเป็นเวลาไม่เกินสิบปี
(ความในมาตรานี้ ต่อมาได้ถูกยกเลิกและแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ โปรดดู พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 มาตรา 8)
มาตรา 27[19] ในกรณีที่การสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมหรือการเก็บรักษาหรือขนส่งปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่กระทบกระเทือนต่อการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจแปลงใดต้องหยุดชะงักลงเป็นส่วนใหญ่เพราะเหตุที่มิใช่ความผิดของผู้รับสัมปทาน ถ้าผู้รับสัมปทานประสงค์จะขอขยายอายุสัมปทาน ให้แจ้งต่ออธิบดีภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ทราบถึงเหตุที่มิใช่ความผิดของผู้รับสัมปทานนั้น ในกรณีเช่นนี้ ให้อธิบดีขยายอายุสัมปทานในส่วนที่เกี่ยวกับแปลงสำรวจแปลงนั้นออกไปเท่ากับระยะเวลาที่ผู้รับสัมปทานสามารถพิสูจน์ได้ว่าการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมต้องหยุดชะงักลงเพราะเหตุที่มิใช่ความผิดของผู้รับสัมปทาน
(ความในมาตรานี้ ต่อมาได้ถูกยกเลิกและแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ โปรดดู พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550 มาตรา 8)
มาตรา 28[20] ในการให้สัมปทาน ให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำหนดเขตพื้นที่แปลงสำรวจโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เขตพื้นที่แปลงสำรวจที่มิใช่อยู่ในทะเล ให้กำหนดพื้นที่ได้ไม่เกินแปลงละสี่พันตารางกิโลเมตร
เขตพื้นที่แปลงสำรวจในทะเล ให้รวมถึงพื้นที่เกาะที่อยู่ในเขตแปลงสำรวจนั้นด้วย
(ความในมาตรานี้ ต่อมาได้ถูกยกเลิกและแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ โปรดดู พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2516 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 มาตรา 9 และ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550 มาตรา 9)
มาตรา 29 เพื่อประโยชน์ในการกำหนดแปลงสำรวจและพื้นที่ผลิต อธิบดีมีอำนาจสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการรังวัดกำหนดเขตหรือตรวจสอบเขตได้
มาตรา 30 ผู้รับสัมปทานต้องปฏิบัติตามข้อผูกพันทั้งในด้านปริมาณเงิน และปริมาณงานสำหรับการสำรวจปิโตรเลียมตามที่กำหนดในสัมปทาน
ในกรณีที่ปรากฏว่าปริมาณงานตามที่กำหนดไว้ในช่วงข้อผูกพันช่วงหนึ่ง ๆ ของสัมปทานไม่เหมาะสมกับสภาพทางธรณีวิทยาของพื้นที่สัมปทาน หรือในกรณีที่มีเทคโนโลยีการสำรวจปิโตรเลียมที่ทันสมัยขึ้น เมื่อผู้รับสัมปทานขอเปลี่ยนแปลงข้อผูกพันด้านปริมาณงาน ให้รัฐมนตรีมีอำนาจอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงข้อผูกพันดังกล่าวได้ตามความเหมาะสมและถ้าการเปลี่ยนแปลงข้อผูกพันนั้นทำให้ผู้รับสัมปทานใช้จ่ายเงินน้อยกว่าจำนวนเงินที่ต้องใช้จ่ายตามข้อผูกพันเดิม ผู้รับสัมปทานต้องจ่ายเงินส่วนที่ลดลงให้แก่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ*ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีอนุมัติ[21]
(ความในมาตรานี้ ต่อมาได้มีการแก้ไขโดยเพิ่มเติมวรรคสอง โปรดดู พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 มาตรา 10)
มาตรา 31 ในการกำหนดข้อผูกพันตามมาตรา 30 ให้แบ่งระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมออกเป็นสามช่วง ดังต่อไปนี้
ช่วงที่หนึ่ง ได้แก่ระยะเวลาสามปีแรกแห่งระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม ในกรณีที่ระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมไม่ถึงสามปี ได้แก่ระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมในสัมปทาน
ช่วงที่สอง ได้แก่ระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมที่เหลือจากช่วงข้อผูกพันช่วงที่หนึ่ง
ช่วงที่สาม ถ้ามีการต่อระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม ได้แก่ระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมที่ได้รับการต่อนั้น
ในกรณีที่มีการขยายอายุสัมปทานตามมาตรา 27 ในช่วงข้อผูกพันช่วงใดให้ขยายช่วงข้อผูกพันช่วงนั้นออกไปเท่ากับระยะเวลาที่ขยายอายุสัมปทานนั้น
ในช่วงข้อผูกพันช่วงใดจะแบ่งการปฏิบัติตามข้อผูกพันนั้นโดยกำหนดเป็นระยะเวลาไว้ในสัมปทานก็ได้ และในกรณีนี้ ผู้รับสัมปทานต้องปฏิบัติตามข้อผูกพันให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้นั้น[22]
(ความในมาตรานี้ ต่อมาได้มีการแก้ไขโดยเพิ่มเติมวรรคสาม โปรดดู พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา 5)
มาตรา 32[23] เมื่อสิ้นช่วงข้อผูกพันช่วงหนึ่ง ๆ หรือสิ้นระยะเวลาหนึ่งในช่วงข้อผูกพันช่วงหนึ่ง ๆ ตามที่กำหนดไว้ในสัมปทาน หรือในกรณีที่มีการคืนพื้นที่แปลงสำรวจทั้งแปลงในช่วงข้อผูกพันช่วงที่หนึ่ง ถ้าผู้รับสัมปทานยังปฏิบัติตามข้อผูกพันสำหรับการสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจแปลงใดไม่ครบตามที่กำหนดไว้ในสัมปทานผู้รับสัมปทานต้องจ่ายเงินส่วนที่ยังมิได้ใช้จ่ายไปในช่วงข้อผูกพันช่วงนั้นหรือระยะเวลาระยะนั้นให้แก่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ*ภายในสามสิบวันนับแต่วันสิ้นช่วงข้อผูกพันหรือระยะเวลา หรือวันคืนพื้นที่แปลงสำรวจแปลงนั้น แล้วแต่กรณี
(ความในมาตรานี้ ต่อมาได้ถูกยกเลิกและแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ โปรดดู พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา 6)
มาตรา 33[24] การโอนข้อผูกพันสำหรับการสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจระหว่างแปลงหนึ่งกับอีกแปลงหนึ่งจะกระทำได้เมื่อมีเหตุอันสมควร และได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีแล้ว
มาตรา 34[25] ในการสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจแปลงใด ในช่วงข้อผูกพันช่วงใดหรือระยะเวลาระยะใดในช่วงข้อผูกพันช่วงใดตามที่กำหนดไว้ในสัมปทาน ถ้าผู้รับสัมปทานได้ใช้จ่ายหรือได้กระทำไปเกินข้อผูกพันสำหรับการสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจแปลงนั้นในช่วงข้อผูกพันช่วงนั้นหรือระยะเวลาระยะนั้น ให้มีสิทธิหักปริมาณเงิน ปริมาณงาน หรือทั้งปริมาณเงินและปริมาณงาน ส่วนที่เกินออกจากข้อผูกพันสำหรับการสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจแปลงนั้นในช่วงข้อผูกพันหรือระยะเวลาถัดไปได้
(ความในมาตรานี้ ต่อมาได้ถูกยกเลิกและแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ โปรดดู พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา 7)
มาตรา 35 ในกรณีที่มีการเพิกถอนสัมปทานในช่วงข้อผูกพันช่วงที่หนึ่ง ถ้าผู้รับสัมปทานยังปฏิบัติตามข้อผูกพันสำหรับการสำรวจปิโตรเลียมไม่ครบตามที่กำหนดไว้ในสัมปทาน ผู้รับสัมปทานต้องจ่ายเงินส่วนที่ยังมิได้ใช้จ่ายไปในช่วงข้อผูกพันช่วงนั้นให้แก่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ*ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งเพิกถอนสัมปทานมีผลใช้บังคับ
มาตรา 36[26] ภายใต้บังคับมาตรา 45 ผู้รับสัมปทานต้องคืนพื้นที่แปลงสำรวจแปลงหนึ่ง ๆ ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(1)[27] เมื่อครบสี่ปีนับแต่วันเริ่มระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม ต้องคืนพื้นที่ร้อยละห้าสิบของพื้นที่แปลงสำรวจแปลงนั้น แต่ถ้าเป็นแปลงสำรวจที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ*กำหนดว่าเป็นแปลงสำรวจในทะเลที่มีน้ำลึกเกินสองร้อยเมตรให้คืนพื้นที่ร้อยละสามสิบห้าของพื้นที่แปลงสำรวจแปลงนั้น
(2) เมื่อสิ้นระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม และระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมนั้นมิได้รับการต่อ ต้องคืนพื้นที่ทั้งหมดที่เหลือจาก (1)
(3) เมื่อสิ้นระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม และระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมนั้นได้รับการต่อ ต้องคืนพื้นที่อีกร้อยละยี่สิบห้าของพื้นที่แปลงสำรวจแปลงนั้น แต่ถ้าเป็นแปลงสำรวจที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ*กำหนดว่าเป็นแปลงสำรวจในทะเลที่มีน้ำลึกเกินสองร้อยเมตร ให้คืนพื้นที่อีกร้อยละสี่สิบของพื้นที่แปลงสำรวจแปลงนั้น
(4) เมื่อสิ้นระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมที่ได้รับการต่อ ต้องคืนพื้นที่ที่เหลือทั้งหมด
เพื่อประโยชน์ในการคำนวณพื้นที่ที่ต้องคืนตามมาตรานี้ให้หักพื้นที่ผลิตออกจากพื้นที่แปลงสำรวจแปลงนั้นก่อน และการคืนพื้นที่ตามมาตรานี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ*กำหนด
ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานไม่ปฏิบัติการให้ถูกต้องตามวรรคหนึ่ง ให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ*กำหนดพื้นที่ที่ต้องคืนแทนผู้รับสัมปทาน และเมื่อได้แจ้งให้ผู้รับสัมปทานทราบแล้ว ให้ถือว่าพื้นที่ที่กำหนดนั้นเป็นพื้นที่ที่คืนตามมาตรานี้
(ความในมาตรานี้ ต่อมาได้ถูกยกเลิกและแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ โปรดดู พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2516 มาตรา 5 และ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 มาตรา 11)
มาตรา 37 ภายใต้บังคับมาตรา 38 มาตรา 39 และมาตรา 40 ผู้รับสัมปทานมีสิทธิคืนพื้นที่แปลงสำรวจทั้งแปลงหรือบางส่วนในเวลาใด ๆ ก็ได้
พื้นที่ที่คืนตามวรรคหนึ่งแล้วให้นำไปหักออกจากพื้นที่ที่ต้องคืนตามมาตรา 36 ได้
ในการคืนพื้นที่แปลงสำรวจบางส่วนตามมาตรานี้ ให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดตามมาตรา 36 วรรคสอง มาใช้บังคับ
มาตรา 38 ผู้รับสัมปทานซึ่งใช้สิทธิคืนพื้นที่แปลงสำรวจทั้งแปลงหรือบางส่วนในช่วงข้อผูกพันช่วงที่หนึ่ง ไม่มีสิทธิได้รับการลดหย่อนในการปฏิบัติตามข้อผูกพันสำหรับการสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจแปลงนั้นในช่วงข้อผูกพันช่วงที่หนึ่ง
ในกรณีที่มีการคืนพื้นที่แปลงสำรวจแปลงใดทั้งแปลงในช่วงข้อผูกพันช่วงที่หนึ่งตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้รับสัมปทานพ้นจากข้อผูกพันสำหรับการสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจแปลงนั้น ในช่วงข้อผูกพันช่วงหลังจากนั้น
มาตรา 39[28] ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานใช้สิทธิคืนพื้นที่แปลงสำรวจในช่วงข้อผูกพันช่วงที่สองหรือช่วงที่สาม ถ้าเป็นการคืนพื้นที่ทั้งหมดที่เหลืออยู่ของแปลงสำรวจแปลงใดให้ผู้รับสัมปทานพ้นจากข้อผูกพันทั้งหมดสำหรับการสำรวจปิโตรเลียมที่ผู้รับสัมปทานยังมิได้ปฏิบัติไปในแปลงสำรวจแปลงนั้น ทั้งนี้ เว้นแต่ข้อผูกพันที่กำหนดไว้ในสัมปทานให้ผู้รับสัมปทานต้องปฏิบัติภายในระยะเวลาก่อนการคืนพื้นที่ และให้นำบทบัญญัติมาตรา 32 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
(ความในมาตรานี้ ต่อมาได้ถูกยกเลิกและแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ โปรดดู พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 มาตรา 12)
มาตรา 40[29] ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานใช้สิทธิคืนพื้นที่แปลงสำรวจบางส่วนครั้งหนึ่งหรือหลายครั้งในช่วงข้อผูกพันช่วงที่สอง ให้ผู้รับสัมปทานได้รับการลดหย่อนในการปฏิบัติตามข้อผูกพันสำหรับการสำรวจปิโตรเลียมที่ยังคงเหลืออยู่ในแปลงสำรวจแปลงนั้น ดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่การคืนพื้นที่นั้นกระทำในระหว่างปีที่สี่ นับแต่วันเริ่มระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจแปลงนั้น ถ้าพื้นที่ที่คืนไม่เกินพื้นที่ที่ต้องคืนตามมาตรา 36 ผู้รับสัมปทานไม่มีสิทธิได้รับการลดหย่อนในการปฏิบัติตามข้อผูกพันในช่วงข้อผูกพันช่วงที่สอง แต่ถ้าพื้นที่ที่คืนครั้งหนึ่งหรือหลายครั้งรวมกันเกินพื้นที่ที่ต้องคืนตามมาตรา 36 แล้ว ให้ผู้รับสัมปทานมีสิทธิได้รับการลดหย่อนในการปฏิบัติตามข้อผูกพันสำหรับการสำรวจปิโตรเลียมในช่วงข้อผูกพันช่วงที่สองนับแต่วันเริ่มต้นของช่วงข้อผูกพันนั้น ทั้งนี้ ตามอัตราส่วนของพื้นที่ที่คืนแต่ละครั้งเฉพาะส่วนที่เกินพื้นที่ที่ต้องคืนตามมาตรา 36 กับพื้นที่ที่ผู้รับสัมปทานยังถืออยู่ในวันเริ่มต้นของช่วงข้อผูกพันช่วงที่สอง หักด้วยพื้นที่ที่ต้องคืนตามมาตรา 36 หรือตามอัตราส่วนของระยะเวลาที่ยังเหลืออยู่ในช่วงข้อผูกพันช่วงที่สองนับแต่วันที่มีการคืนแต่ละครั้งกับระยะเวลาทั้งสิ้นของช่วงข้อผูกพันช่วงที่สอง สุดแต่อัตราใดจะน้อยกว่า
(2) ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานใช้สิทธิคืนพื้นที่หลังจากสิ้นปีที่สี่นับแต่วันเริ่มระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจแปลงนั้น ให้ผู้รับสัมปทานมีสิทธิได้รับการลดหย่อนในการปฏิบัติตามข้อผูกพันสำหรับการสำรวจปิโตรเลียมในช่วงข้อผูกพันช่วงที่สองนับแต่วันเริ่มต้นของปีที่ห้าของระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจแปลงนั้น ทั้งนี้ ตามอัตราส่วนของพื้นที่ที่คืนแต่ละครั้ง กับพื้นที่ที่ผู้รับสัมปทานถืออยู่ในวันเริ่มต้นของปีที่ห้า หรือตามอัตราส่วนของระยะเวลาที่ยังเหลืออยู่ในช่วงข้อผูกพันช่วงที่สองนับแต่วันที่มีการคืนแต่ละครั้ง กับระยะเวลาทั้งสิ้นของช่วงข้อผูกพันช่วงที่สองนับจากวันเริ่มปีที่ห้า สุดแต่อัตราใดจะน้อยกว่า
ภายใต้บังคับมาตรา 39 ในการใช้สิทธิคืนพื้นที่แปลงสำรวจบางส่วนในช่วงข้อผูกพันช่วงที่สาม ผู้รับสัมปทานไม่มีสิทธิได้รับการลดหย่อนในการปฏิบัติตามข้อผูกพัน สำหรับการสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจแปลงนั้นในช่วงข้อผูกพันช่วงที่สาม
(ความในมาตรานี้ ต่อมาได้ถูกยกเลิกและแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ โปรดดู พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 มาตรา 12)
มาตรา 41 ในระหว่างระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม ผู้รับสัมปทานจะผลิตปิโตรเลียมก็ได้
มาตรา 42[30] ก่อนผลิตปิโตรเลียมจากที่ใดที่หนึ่งในแปลงสำรวจ ผู้รับสัมปทานต้องแสดงว่าได้พบหลุมปิโตรเลียมที่มีสมรรถนะเชิงพาณิชย์และได้กำหนดพื้นที่ผลิตถูกต้องแล้ว และเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีแล้วจึงจะผลิตปิโตรเลียมจากพื้นที่ผลิตนั้นได้
การกำหนดสมรรถนะเชิงพาณิชย์ของหลุมปิโตรเลียมและการกำหนดพื้นที่ผลิตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 42 ทวิ[31] เมื่อผู้รับสัมปทานได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้ผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ผลิตตามมาตรา 42 แล้ว ให้ผู้รับสัมปทานยื่นแผนการผลิตในรายละเอียดสำหรับพื้นที่ผลิตดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และผู้รับสัมปทานต้องเริ่มทำการผลิตปิโตรเลียมตามแผนภายในสี่ปีนับแต่วันที่ได้รับการอนุมัติจากอธิบดีตามมาตรา 42 ถ้าผู้รับสัมปทานไม่เริ่มทำการผลิตปิโตรเลียมภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมสำหรับพื้นที่ที่ได้กำหนดให้เป็นพื้นที่ผลิตนั้นสิ้นสุดลง
ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานประสงค์จะขอขยายระยะเวลาเริ่มทำการผลิตปิโตรเลียมออกไปจากกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้รับสัมปทานแจ้งเป็นหนังสือพร้อมด้วยเหตุผลให้อธิบดีทราบล่วงหน้าก่อนสิ้นสุดระยะเวลาตามวรรคหนึ่งไม่น้อยกว่าหกเดือน ถ้าอธิบดีเห็นว่าการที่ผู้รับสัมปทานไม่สามารถเริ่มทำการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ผลิตนั้นมิใช่ความผิดของผู้รับสัมปทาน ให้อธิบดีมีอำนาจอนุญาตให้ขยายระยะเวลาเริ่มทำการผลิตออกไปได้ตามที่เห็นสมควร แต่การอนุญาตให้ขยายระยะเวลาเริ่มทำการผลิตปิโตรเลียมให้กระทำได้ไม่เกินคราวละสองปีและให้อนุญาตขยายได้ไม่เกินสองคราว
ตลอดระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ผลิต ผู้รับสัมปทานจะต้องทบทวนแผนการผลิตปิโตรเลียมตามวรรคหนึ่ง แล้วแจ้งผลการทบทวนเป็นหนังสือต่ออธิบดีทุกปี และถ้าผู้รับสัมปทานประสงค์จะเปลี่ยนแปลงแผนการผลิตปิโตรเลียม ให้ผู้รับสัมปทานได้รับอนุมัติจากอธิบดีก่อน จึงจะเปลี่ยนแปลงแผนการผลิตปิโตรเลียมได้
(ความในมาตรานี้ ต่อมาได้ถูกยกเลิกและแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ โปรดดู พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550 มาตรา 11)
(ได้มีการเพิ่มมาตรา 42 ทวิ โปรดดู พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 มาตรา 13 และ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550 มาตรา 12)
มาตรา 43 ในระหว่างระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม ถ้าผู้รับสัมปทานได้พัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในแปลงสำรวจแปลงใดในช่วงข้อผูกพันช่วงใด ผู้รับสัมปทานมีสิทธินำค่าใช้จ่ายในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมไปคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายตามข้อผูกพันสำหรับการสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจแปลงนั้นในช่วงข้อผูกพันช่วงนั้นได้
มาตรา 44 ถ้าผู้รับสัมปทานไม่สามารถแสดงว่าได้พบหลุมปิโตรเลียมที่มีสมรรถนะเชิงพาณิชย์ในแปลงสำรวจแปลงใด หรือมิได้กำหนดพื้นที่ผลิตตามมาตรา 42 ให้ถือว่าสัมปทานในส่วนที่เกี่ยวกับแปลงสำรวจแปลงนั้นสิ้นอายุเมื่อสิ้นระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม
มาตรา 45[32] เมื่อสิ้นระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจแปลงใด และผู้รับสัมปทานได้รับสิทธิผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจแปลงนั้นแล้วผู้รับสัมปทานมีสิทธิสงวนพื้นที่ในแปลงสำรวจแปลงนั้นไว้ได้ไม่เกินร้อยละสิบสองครึ่งของพื้นที่เดิมของแปลงสำรวจแปลงนั้น ตามระยะเวลาที่ผู้รับสัมปทานกำหนดแต่ต้องกำหนดไม่เกินห้าปีนับแต่วันสิ้นระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมในแปลงสำรวจแปลงนั้น แต่ผู้รับสัมปทานจะคืนพื้นที่แปลงสำรวจที่ขอสงวนไว้นั้นก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าวก็ได้
ในการสงวนพื้นที่ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อการสงวนพื้นที่ได้เป็นไปโดยถูกต้องแล้ว ผู้รับสัมปทานย่อมมีสิทธิสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่ที่สงวนไว้นั้นได้ และให้ผู้รับสัมปทานเสียค่าสงวนพื้นที่ล่วงหน้าเป็นรายปีตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานพบปิโตรเลียมในเขตพื้นที่ที่สงวนไว้และประสงค์จะผลิตปิโตรเลียม ให้นำมาตรา 42 มาใช้บังคับ
(ความในมาตรานี้ ต่อมาได้ถูกยกเลิกและแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ โปรดดู พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 มาตรา 14)
มาตรา 46 ผู้รับสัมปทานซึ่งชำระค่าสงวนพื้นที่สำหรับปีใด มีสิทธิได้รับค่าสงวนพื้นที่ในปีนั้นคืนเท่ากับจำนวนค่าใช้จ่ายที่เสียไปในการสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่ที่สงวนไว้ในปีนั้นได้ แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินค่าสงวนพื้นที่ที่ได้ชำระไปแล้ว
การขอรับค่าสงวนพื้นที่คืนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 47 ผู้รับสัมปทานอาจรับบริษัทอื่นเข้าร่วมประกอบกิจการปิโตรเลียมตามสัมปทานได้เมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ในกรณีเช่นนี้ผู้ร่วมประกอบกิจการปิโตรเลียมแต่ละรายต้องชำระค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ และเงินอย่างอื่น และปฏิบัติตามข้อผูกพันที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการปิโตรเลียมในส่วนที่เป็นของตน
ผู้ร่วมประกอบกิจการปิโตรเลียมทุกรายต้องรับผิดร่วมกันและแทนกันในการปฏิบัติตามสัมปทานและตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ผู้ร่วมประกอบกิจการปิโตรเลียมรายหนึ่งไม่ต้องรับผิดชอบในการชำระภาษีเงินได้ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมในส่วนที่เป็นของผู้ร่วมประกอบกิจการปิโตรเลียมรายอื่น
ในกรณีที่ผู้ร่วมประกอบกิจการปิโตรเลียมรายใดไม่ชำระภาษีเงินได้ที่ตนมีหน้าที่ต้องเสีย ให้รัฐมนตรีแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ร่วมประกอบกิจการปิโตรเลียมรายอื่นทุกรายทราบ และถ้ามิได้มีการชำระภาษีเงินได้ดังกล่าวนั้นภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับหนังสือ ให้ถือเป็นอีกเหตุหนึ่งที่จะเพิกถอนสัมปทานได้ด้วย
มาตรา 48[33] ผู้รับสัมปทานมีสิทธิโอนสัมปทานทั้งหมด หรือเฉพาะที่เกี่ยวกับแปลงสำรวจแปลงใดแปลงหนึ่ง พื้นที่ผลิต หรือพื้นที่ที่สงวนไว้เขตใดเขตหนึ่งให้แก่บริษัทอื่นโดยไม่ต้องขอรับอนุญาตในกรณี ดังต่อไปนี้
(1) บริษัทผู้รับสัมปทานถือหุ้นในบริษัทผู้รับโอนสัมปทานนั้นเกินร้อยละห้าสิบของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้
(2) บริษัทผู้รับโอนสัมปทานถือหุ้นในบริษัทผู้รับสัมปทานเกินร้อยละห้าสิบของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้ หรือ
(3) มีบริษัทที่สามถือหุ้นเกินร้อยละห้าสิบของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้ทั้งในบริษัทผู้รับสัมปทานและบริษัทผู้รับโอนสัมปทาน
การโอนตามวรรคหนึ่ง ผู้รับสัมปทานต้องแจ้งเป็นหนังสือให้รัฐมนตรีทราบพร้อมทั้งแสดงหลักฐานว่าการโอนดังกล่าวได้เป็นไปตามกรณีที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง และในกรณีที่ผู้รับสัมปทานได้มีการรับรองของบริษัทที่มีความสัมพันธ์ในด้านทุนหรือด้านการจัดการกับผู้รับสัมปทานเกี่ยวกับทุน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์และผู้เชี่ยวชาญ ตามมาตรา 24 วรรคสอง ผู้รับสัมปทานต้องยื่นหลักฐานแสดงการรับรองผู้รับโอนสัมปทานโดยบริษัทดังกล่าวให้แก่รัฐมนตรีด้วย ทั้งนี้ เว้นแต่รัฐมนตรีจะเห็นว่าผู้รับโอนสัมปทานเป็นผู้ที่ยื่นขอสัมปทานได้โดยไม่ต้องมีการรับรองหรือมีบริษัทอื่นที่รัฐบาลเชื่อถือเข้ารับรองผู้รับโอนสัมปทานแทนตามมาตรา 24 แล้ว
การโอนตามมาตรานี้ จะมีผลต่อเมื่อผู้รับสัมปทานได้รับหนังสือแจ้งจากอธิบดีว่าการโอนได้เป็นไปโดยถูกต้องตามมาตรานี้แล้ว
(ความในมาตรานี้ ต่อมาได้ถูกยกเลิกและแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ โปรดดู พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 มาตรา 15)
มาตรา 49 ผู้โอนสัมปทานและผู้รับโอนสัมปทานตามมาตรา 48 ต้องรับผิดร่วมกันและแทนกันในการปฏิบัติตามสัมปทานและตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 50[34] นอกจากกรณีตามมาตรา 48 ผู้รับสัมปทานอาจโอนสัมปทานทั้งหมดหรือเฉพาะที่เกี่ยวกับแปลงสำรวจแปลงใดแปลงหนึ่ง พื้นที่ผลิต หรือพื้นที่ที่สงวนไว้เขตใดเขตหนึ่งให้แก่บริษัทอื่นได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี
ผู้รับโอนสัมปทานตามวรรคหนึ่งต้องมีลักษณะตามมาตรา 24[35]
(ความในมาตรานี้ ต่อมาได้ถูกยกเลิกและแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ โปรดดู พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2516 มาตรา 6 และ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550 มาตรา 13)
มาตรา 51[36] รัฐมนตรีมีอำนาจเพิกถอนสัมปทาน เมื่อผู้รับสัมปทาน
(1) ไม่ปฏิบัติตามข้อผูกพันสำหรับการสำรวจปิโตรเลียมตามที่กำหนดในสัมปทานตามมาตรา 30
(2) ไม่วางหลักประกันหรือวางหลักประกันไม่ครบจำนวนตามมาตรา 80/2
(3) ไม่ชำระค่าภาคหลวงตามหมวด 7 หรือผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษตามหมวด 7 ทวิ
(4) ไม่ชำระภาษีเงินได้ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
(5) ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเทคนิคและวิธีการปฏิบัติงานปิโตรเลียมที่ดี
(6) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในสัมปทานว่าเป็นเหตุเพิกถอนสัมปทานได้
(ความในมาตรานี้ ต่อมาได้ถูกยกเลิกและแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ โปรดดู พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 มาตรา 16 และ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550 มาตรา 14)
มาตรา 52 เมื่อมีเหตุที่จะเพิกถอนสัมปทานเกิดขึ้นและเหตุนั้นรัฐมนตรีเห็นว่าอาจแก้ไขได้ ให้รัฐมนตรีแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับสัมปทานทราบถึงเหตุนั้น และกำหนดให้ผู้รับสัมปทานแก้ไขภายในเวลาที่เห็นสมควร ถ้าผู้รับสัมปทานไม่สามารถแก้ไขได้ภายในเวลาที่กำหนดโดยมีเหตุอันสมควร ให้ขออนุญาตขยายเวลาออกไปได้เท่าที่จำเป็นก่อนครบกำหนดเวลานั้นไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ถ้ารัฐมนตรีเห็นสมควรให้มีอำนาจขยายเวลาออกไปได้ไม่เกินระยะเวลาที่ผู้รับสัมปทานขอขยาย ถ้าผู้รับสัมปทานไม่แก้ไขภายในเวลาที่กำหนดหรือไม่สามารถแก้ไขภายในเวลาที่ขยายออกไป ให้รัฐมนตรีมีคำสั่งเพิกถอนสัมปทานโดยไม่ชักช้า
ในกรณีที่มีเหตุที่จะเพิกถอนสัมปทานเกิดขึ้นและเหตุนั้น รัฐมนตรีเห็นว่าไม่อาจแก้ไขได้ ให้รัฐมนตรีมีคำสั่งเพิกถอนสัมปทานโดยไม่ต้องปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง
คำสั่งเพิกถอนสัมปทานให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้รับสัมปทานได้รับคำสั่ง เว้นแต่ผู้รับสัมปทานจะดำเนินการตามมาตรา 53
มาตรา 52 ทวิ[37] ในกรณีที่รัฐมีความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐบาลอาจขอให้ผู้รับสัมปทานเร่งรัดการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ที่ผู้รับสัมปทานได้สงวนไว้ตามมาตรา 45 ก็ได้ โดยเสนอแผนการผลิตในเขตพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะตามโครงสร้างของแหล่งปิโตรเลียม
ถ้าพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ที่มีสภาพทางธรณีวิทยาไม่เอื้ออำนวย รัฐบาลจะเสนอให้มีการลดหย่อนค่าภาคหลวงตามมาตรา 99 ทวิ และ/หรือ เสนอเพิ่มค่าคงที่แสดงสภาพทางธรณีวิทยาของแปลงสำรวจตามมาตรา 100 ฉ (ข) สำหรับพื้นที่นั้นหรือไม่ก็ได้
ถ้าผู้รับสัมปทานไม่สามารถเจรจาทำความตกลงกับรัฐบาลได้ภายในสิบสองเดือนนับแต่วันที่ผู้รับสัมปทานได้รับข้อเสนอจากรัฐบาลตามวรรคหนึ่ง และรัฐบาลเห็นว่าการเร่งรัดการผลิตปิโตรเลียมดังกล่าวเป็นความจำเป็นแก่เศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลมีสิทธิแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับสัมปทานทราบว่า รัฐบาลจะเข้าใช้สิทธิประกอบกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่นั้นด้วยความเสี่ยงภัยแต่ฝ่ายเดียว
เมื่อรัฐบาลได้แจ้งให้ผู้รับสัมปทานทราบถึงการเข้าใช้สิทธิดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าสิทธิตามสัมปทานของผู้รับสัมปทานเฉพาะในพื้นที่ที่ได้กำหนดขึ้นตามวรรคหนึ่งสิ้นสุดลง และรัฐบาลมีอำนาจมอบหมายให้ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือผู้หนึ่งผู้ใดเข้าประกอบกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าวได้
หากในการประกอบกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าวมีผลกำไรปิโตรเลียมประจำปีตามมาตรา 100 จัตวา ของหมวด 7 ทวิ เกิดขึ้นให้รัฐบาลนำผลกำไรปิโตรเลียมประจำปีดังกล่าวชำระคืนเงินลงทุนอันเป็นรายจ่ายที่ผู้รับสัมปทานได้ใช้จ่ายในพื้นที่ดังกล่าว ให้แก่ผู้รับสัมปทานจนกว่าจะครบจำนวน และในการคำนวณผลกำไรขาดทุนสำหรับการประกอบกิจการปิโตรเลียมของรัฐตามมาตรานี้ ให้คำนวณดังเช่นการคำนวณสำหรับการประกอบกิจการปิโตรเลียมของผู้รับสัมปทานอื่น แต่มิให้มีค่าลดหย่อนพิเศษตามมาตรา 100 ตรี (4) เพื่อนำมาคำนวณเป็นค่าใช้จ่าย
ในระหว่างการประกอบกิจการปิโตรเลียมของรัฐบาลตามมาตรานี้ ผู้รับสัมปทานมีสิทธิขอเข้าร่วมทุนกับรัฐบาลได้ โดยใช้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามข้อกำหนดว่าด้วยการประกอบกิจการปิโตรเลียมโดยการเสี่ยงภัยลงทุนแต่ฝ่ายเดียว ของสัญญาร่วมทุนระหว่างผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมที่ใช้กันอยู่ในประเทศไทยที่ให้ผลดีที่สุดแก่ผู้รับสัมปทาน แต่การขอใช้สิทธิเช่นนั้นจะต้องแจ้งให้รัฐบาลทราบอย่างช้าภายในสามปีนับแต่วันที่รัฐบาลได้เข้าใช้สิทธิประกอบกิจการปิโตรเลียมตามมาตรานี้
ถ้ารัฐบาลไม่เริ่มต้นประกอบกิจการปิโตรเลียมอย่างจริงจังในพื้นที่ที่กำหนดขึ้นตามวรรคหนึ่งภายในระยะเวลาสองปี นับแต่วันที่สิทธิตามสัมปทานของผู้รับสัมปทานนั้นสิ้นสุดลงตามวรรคสี่ ผู้รับสัมปทานมีสิทธิร้องขอให้รัฐบาลคืนสิทธิในพื้นที่ดังกล่าวให้แก่ตนโดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อรัฐมนตรีภายในระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันที่ครบกำหนดสองปีดังกล่าว และในกรณีที่มีการคืนสิทธิในพื้นที่ ให้ขยายอายุสัมปทานของผู้รับสัมปทานเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับพื้นที่นั้นออกไปเท่ากับระยะเวลาที่รัฐบาลได้เข้าใช้สิทธิตามมาตรานี้ และรัฐบาลมีสิทธิได้รับคืนเงินที่ได้ลงทุนไปในพื้นที่ดังกล่าวเป็นจำนวนเท่าที่การลงทุนนั้นได้เกิดประโยชน์แก่ผู้รับสัมปทาน
(ได้มีการเพิ่มมาตรา 52 ทวิ โปรดดู พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 มาตรา 17)
มาตรา 53 ข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการที่รัฐมนตรีสั่งให้ผู้รับสัมปทานแก้ไข เหตุที่จะสั่งเพิกถอนสัมปทานตามมาตรา 52 และข้อพิพาทที่เกี่ยวกับปัญหาที่ว่าได้มีการปฏิบัติตามสัมปทานหรือไม่ ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ ให้ดำเนินการระงับโดยอนุญาโตตุลาการตามวิธีการที่กำหนดในสัมปทาน
ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานไม่ยอมปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ หรือไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการภายในเวลาที่กำหนด ให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิหรือประโยชน์ทั้งหมดหรือบางส่วนหรือเพิกถอนสัมปทานได้